ความตื่นตัวในเรื่องสาธารณสุขกับการเข้ามาของประชาคมอาเซียนหรือ เออีซี เป็นนโยบายหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข เพราะในอนาคตเมืองไทยจะมีการผสมปนเปของคนในชาติอาเซียนเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย ประเด็นการรักษาพยาบาลยามป่วยไข้ การควบคุมโรคระบาด การจัดระบบหลักประกันสุขภาพแก่คนเหล่านี้

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามในการจัดระเบียบการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวด้วยระบบประกันสังคมและระบบกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่มีแนวโน้มจะยกเครื่องใหม่ให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งมีความคิดที่จะให้มีการดูแลและประกันสุขภาพครอบครัวแรงงานต่างด้าวที่ติดตามเข้ามาด้วย นับเป็นการเตรียมการมองไกลสำหรับอนาคตที่น่าชื่นชมแต่ในขณะที่กระทรวงมองไกลนั้น ยังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงถูกทอดทิ้งไม่มีหลักประกันสุขภาพและการดูแลใดๆอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล นั่นคือคนเลข 0

คนไทยทุกคนจะมีเลขประจำตัวบุคคลเป็นเลข 13 หลัก มีตั้งแต่นำหน้าด้วยเลข1-5 ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย เลข 6,7 เป็นคนชนเผ่าในประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะบุคคล ซึ่งส่วนนำหน้าด้วยเลข 8 จะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งคนเหล่านี้ทั้งหมดมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ยังมีคนพื้นถิ่นกลุ่มสุดท้ายในประเทศไทยที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพนั่นคือคนเลข 0

คนเลข 0 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่ากลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม คนชนเผ่า ทางภาคเหนือเช่นชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคใต้ก็ เช่น ชาวเลมอร์แกน หรือแม้แต่เด็กเร่รอนที่ไม่รู้ว่าใครคือพ่อแม่ บุคคลเหล่านี้เนื่องจากตกสำรวจบ้าง  หรือไม่มีหลักฐานแสดงตนเช่นใบรับรองการเกิดที่จะพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทยบ้าง สุดท้ายจึงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองจากรัฐไทยแต่เพราะเขามีชีวิตและตัวตนจริงบนแผ่นดินไทย มีพี่น้องครอบครัวอยู่ในแผ่นดินไทยรัฐจึงลงทะเบียนให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้เลขที่บัตรประจำตัวบุคคลขึ้นต้นด้วยเลข 0 แทบจะไม่มีสิทธิใดๆจากรัฐไทย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีสิทธิที่จะถือครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิทำใบขับขี่ ไม่มีสิทธิในการเดินทางอย่างเสรี เป็นคนไร้รัฐอย่างสมบูรณ์ ในประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 210,000 คน

คนเลข 0 จำนวน 210,000 คนนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยากจนตามแนวชายแดนหากร่ำรวยหรือเรียนสูงรัฐไทยก็คงรีบให้สัญชาติไทยไปแล้ว เป็นคนที่รัฐไทยทอดทิ้ง เมื่อเจ็บป่วยก็มักจะรอจนป่วยหนักไม่ไหวแล้วจึงมาโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงิน โรงพยาบาลชายแดนที่ส่วนใหญ่ก็มีฐานะการเงินยากจนแต่ก็ให้การรักษาทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนแม้จะเก็บค่ารักษาไม่ได้ และต้องรับภาระการสงเคราะห์ไว้โดยไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล เงินที่จะดูแลคนไทยตามสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ต้องแบ่งปันไปดูแลคนไทยไร้รัฐกลุ่มนี้ อีกการควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนก็ยังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านสุขภาพ สาธารณสุขชายแดนจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของการก้าวสู่เออีซีที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขไม่ควรมองข้าม

ก่อนจะก้าวไกลไปถึงเออีซี รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องเหลียวมามองบ้านตนเอง ต้องไม่ลืมการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่คนเลข 0 คนไทยไร้รัฐกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่ได้รับการดูแลด้านหลักประกันสุขภาพจากรัฐไทย งบประมาณที่ใช้หากคิดรายหัวละ 2,000 บาทก็เป็นเงินปีละ 400 ล้านบาท ไม่ได้มากมายเหมือนเงินคืนภาษีรถคันแรกแต่อย่างใด

 

ผู้เขียน : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 15 มกราคม 2556