เลขารมว.แรงงานเผย ระบบคอมพ์สปส.ถูกปิด หลังไม่ต่อสัญญาจ้างบริษัทเอกชน ชี้เรียกค่าจ้างสูงเกินกว่า 2.3 พันล้านสู้ไม่ไหว ทำให้การยื่นใช้สิทธิกรณีว่างงาน-กองทุนเงินทดแทนชะงัก ด้านเลขาธิการสปส.แจงขอเวลา 15 วันกู้ข้อมูลทั้งหมด ฝากขอโทษผู้ประกันตน

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วานนี้(11ม.ค.)ตนได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดในหลายจังหวัดว่า ไม่สามารถเปิดใช้ข้อมูลของผู้ประกันตน ซึ่งยื่นขอสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานและกองทุนเงินทดแทนในระบบคอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ถูกปิดลง ทำให้การใช้สิทธิทั้งสองกรณีนี้ชะงักไปชั่วคราว จึงได้สอบถามไปยังนายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยรองเลขาธิการสปส.ชี้แจงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของสปส.ได้ถูกปิดลง เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเอสโอเอ คอนซอร์เตียม ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 ในวงเงินกว่า 2,300 ล้านบาทได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และไม่ได้มีการต่อสัญญา โดยระหว่างนี้สปส.จะแก้ปัญหาด้วยการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆก่อน และจะกู้ข้อมูลเดิมให้ได้ภายใน 15 วัน

"ผมได้สั่งการให้รองเลขาธิการสปส.ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งสาเหตุและการแก้ปัญหามายังนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.)โดยเร็วที่สุด หากสปส.ชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน ก็จะหารือกับรมว.แรงงานเพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงานของรองเลขาธิการสปส. เลขาธิการสปส.และคณะกรรมการสปส.ด้วยเพราะปัญหาเรื่องนี้สปส.ทราบล่วงหน้ามา 1 ปีแล้ว ซึ่งสปส.ก็ได้หาบริษัทอื่นเข้ามาช่วย จัดทำข้อมูลผู้ประกันตนไว้ล่วงหน้า แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะบริษัทเอสโอเอฯไม่ให้ฐานข้อมูลเดิมแก่สปส. เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ ผมก็ได้สั่งให้สปส.ไปเตรียมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีระบบคุ้มครองผู้ประกันตน จะได้ไม่มีปัญหาในการยื่นใช้สิทธิต่างๆของประกันสังคม แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น จนได้" นายสง่า กล่าว

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสปส. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับ รายงานว่าโครงการเช่าและใช้ระบบเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อบริการงานประกันสังคม ทั่วประเทศถูกปิดลงโดยบริษัทคู่สัญญาที่ สปส.ว่าจ้างในการดูแลระบบฐานข้อมูล ของผู้ประกันตนทั้งหมด ซึ่งครบสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เนื่องจากสปส.ไม่ต้องการต่อสัญญากับบริษัทดังกล่าว เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 2,300 ล้านบาท จึงได้สั่งการไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัดต่างๆให้เตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยใช้รูปแบบเดิมในการกรอกข้อมูลใส่กระดาษแบบฟอร์มต่างๆแทน ในระหว่างรอการกู้ฐานข้อมูลทั้งหมดคืน  "ผมขอยืนยันว่าจะสามารถกู้ข้อมูลทั้งหมดได้ภายใน 14 - 15 วัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สปส.เตรียมจัดทำระบบฐานข้อมูลเอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดูแล และผมจึงฝากขออภัยผู้ประกันตนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการด้วย" เลขาธิการสปส. กล่าว

แจงกระทบแค่กองทุนเงินทดแทน

ขณะที่นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า การที่ระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส.ไม่สามารถใช้การได้ในขณะนี้นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน และไม่ได้ส่งผลให้การรับเงินในกองทุนเงินทดแทนล่าช้าลงกว่าเดิม เพราะตามปกติผู้ประกันตนสามารถมายื่นขอรับเงินได้ที่เคาน์เตอร์ของ สปส.อยู่แล้ว เนื่องจากระบบการทำงานภายในเป็นระบบที่ใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนไฟดับ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานในการกู้ฐานข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่า ระบบที่ถูกปิดนั้น กระทบเพียงส่วนของกองทุนเงินทดแทนแค่ในส่วนการจ่ายเงินเข้ากองทุนของนายจ้างเท่านั้น ไม่ได้กระทบถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม ทั้งนี้ การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนของนายจ้างนั้น ทาง สปส.จะส่งใบแจ้งหนี้ไปยังนายจ้าง ซึ่งนายจ้างสามารถจ่ายเงินได้ที่เคาน์เตอร์ของประกันสังคมหรือธนาคาร แต่เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของกองทุนเงินทดแทนถูกปิด เจ้าหน้าที่ก็ปรับเป็นการให้นายจ้างมากรอกเอกสารและออกใบเสร็จโดยการเขียนด้วยมือแทนระบบคอมพิวเตอร์

ส่วนการขอรับเงินสิทธิประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทนทั้งในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ค่าทำศพ และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างนั้น ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเราจะมีการ์ดบันทึกข้อมูลของลูกจ้างในกองทุนเงินทดแทนอยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลของลูกจ้างจะถูกบันทึกเก็บไว้ทั้งในระบบคอมพิวเตอร์และในการ์ด ทำให้ขณะนี้ยังสามารถใช้การในส่วนของการรับประโยชน์ทดแทนได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีลูกจ้างมาใช้สิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนเพียงจำนวนกว่า 100,000 ราย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 มกราคม 2556