ภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยดึงคนนอกนั่งเก้าอี้ 'รองเลขาธิการ สปสช.' หวั่นการเมืองครอบ เตรียมร้องผู้ตรวจการแผ่นดินขัดจริยธรรมองค์กร
ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศรับสมัครรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มอีก 2 อัตรา จากที่มีอยู่แล้ว 3 อัตรา เนื่องจากมีการขยายขอบข่ายงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริหารการเบิกจ่ายเงินในฐานะหน่วยเบิกจ่ายกลาง หรือเคลียริ่ง เฮาส์ (Clearing house) ตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐนั้น
เมื่อวันที่ 3 มกราคม แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในวันที่ 8 มกราคมนี้จะมีการคัดเลือกรองเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีก 2 อัตราแน่นอน สำหรับกรรมการคัดเลือก ได้แก่ เลขาธิการ สปสช. และรองเลขาธิการ สปสช. 3 คน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกนับแต่มีการก่อตั้ง สปสช. เนื่องจากแต่เดิมตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นการเลื่อนขึ้นตามลำดับปกติ คือ จากผู้อำนวยการสำนักงาน สปสช. เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และขึ้นเป็นรองเลขาธิการ สปสช. โดยมีเลขาธิการ สปสช.เป็นผู้ลงนามอนุมัติ แต่ครั้งนี้มีความต้องการดึงคนนอก สปสช.เข้าไปร่วมบริหารด้วย และว่า ขณะนี้มีบุคคลภายนอกที่อยู่ในข่ายจะได้รับคัดเลือก 2 คน คือ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคไทยรักไทย และ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ส่วน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และอดีตบอร์ด สปสช. 2 สมัย เป็นเพียงการเสนอตัวสมัครรับคัดเลือกของเจ้าตัว เนื่องจากต้องการเข้าไปตรวจสอบการบริหารงานภายในเท่านั้น
"การมีชื่อของ นพ.สัมฤทธิ์น่าจะเป็นเพียงการดึงนักวิชาการเข้าร่วมคัดเลือก เพื่อลดแรงต่อต้านจากภาคประชาสังคมมากกว่า แต่แนวโน้มเชื่อว่า นพ.อรรถสิทธิ์มีโอกาสสูงที่จะได้รับคัดเลือก ส่วนรองเลขาธิการ สปสช.อีกตำแหน่งนั้น คิดว่าน่าเป็นคนภายใน สปสช. เพราะไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านมากนัก โดยคนใน สปสช.ที่อยู่ในชื่อที่ถูกคัดเลือกมี 2 คน คือ นพ.กรรชิต คุณาวุฒิ และ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ซึ่งทั้งคู่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช." แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของ สปสช. ใครจะสมัครก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ยืนยันว่าการเมืองไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนในการตัดสินใจใดๆ
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นธรรมาภิบาลขององค์กร หากมีกระบวนการแทรกแซงจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรภายในองค์กรแน่นอน เพราะคนในองค์กรจะทำให้ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ หากผลการคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปตามที่ภาคประชาสังคมกังวลว่าจะมีการดึงคนนอกเข้าไปทำงาน ขณะนี้ภาคประชาชนด้านหลักประกันสุขภาพมีการหารือว่าจะออกมาเคลื่อนไหวยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบจริยธรรม เพราะถือเป็นการแทรกแซงการทำงานขององค์กร
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 มกราคม 2556
- 17 views