การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทย ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ก้าวสู่ยุคที่อัตราอายุเจริญพันธุ์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการวางแผนครอบครัว รวมทั้งในแง่มิติของสังคมและเศรษฐกิจ ที่ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่จำนวนประชากรในวันทำงานลดลง ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระทบไปถึงตลาดแรงงานในอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก
ทว่าประเด็นนี้ทำให้หลายฝ่ายจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวน ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ประชากรในวัยทำงาน เพื่อช่วยกันพยุงสัดส่วนของตลาดแรงงานที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้จัดเวทีระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมโนทัศน์ใหม่ผู้สูงอายุขึ้น ในประเด็น "ขยายอายุการทำงานมุมมองภาคอุตสาหกรรม" จากนักวิชาการ ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและ จุดประกายให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวต่อสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
นางสาวกุลธิดา เลิศพงษ์วัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาสังคมผู้สูงอายุและแรงงาน บอกว่า ผลจากการพัฒนาด้านแรงงานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พบว่าการพัฒนาคุณภาพของแรงงานยังมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพทางการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งการผลิตและการพัฒนากำลังคนที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ ในขณะที่กำลังแรงงานระดับกลางมีการศึกษาสูงขึ้น แต่ไม่มีคุณภาพพอที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้ ซึ่งผลการพัฒนาแรงงานที่ผ่านมาได้ชี้ชัดว่ายังมีการจำกัดในเรื่องทักษะฝีมือแรงงานและระดับการพัฒนายังคงต่ำกว่ามาตรฐานอยู่มาก
ทั้งนี้ จากการคาดประมาณแนวโน้มประชากรไทย พบว่าประชากรของประเทศไทยจะมีจำนวนสูงสุดในปี 2569 โดยมีจำนวน 66.4 ล้านคน ซึ่งระหว่างปี 2564-2574 จะมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็กที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปีจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อจำกัดต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของประชากรวัยเด็กให้มากขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานในขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับขีดแข่งขันภายในประเทศได้ และหากดูสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 มีจำนวนอยู่ที่ 13.2 ล้านคน และในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นไปถึง 32.9 ล้านคน ซึ่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว ทำให้การขยายตลาดเป็นไปได้ยาก ประกอบกับในอนาคต แรงงานข้ามชาติจะเริ่มทยอยกลับสู่ภูมิลำเนา ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม ยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขของการเกษียณอายุการทำงานของภาคเอกชนในประเทศไทยส่วนมากจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลง ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นกว่า 20% ทำให้ความต้องการแรงงานยิ่งขยายเพิ่มขึ้นถึง 30%
ด้านนายพูนศักดิ์ วุฒิกุล อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยฯ ฝ่ายพัฒนาบุคลากร บอกว่า ในภาคเอกชนนั้น ความต้องการกำลังแรงงานในหมวดทักษะมีมากขึ้นกว่า30% จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าแรงงานในช่วงอายุ 45 ปี เป็นต้นไปจะเริ่มเคลื่อนย้ายออกไปทำงานนอกระบบมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานจากผู้ที่จบการศึกษาชั้น ม.3 และ ม.6 มาทำงานมากขึ้น เพราะแรงงานสาขาอาชีวศึกษาหายไปมาก ส่วนใหญ่มักจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและเข้าทำงานตามห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนช่างฝีมือแรงงาน
"ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกำลังเดือดร้อน ซึ่งการนำเข้าแรงงานต่างชาติมีค่าจ้างที่สูงมาก ดังนั้นการเพิ่มจำนวนแรงงานของภาคอุตสาหกรรมจึงขอเสนอว่าควรขยายอายุกำลังแรงงานเกษียณจาก 55 ปี ให้เพิ่มเป็น 60 ปี และให้กำหนดการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน ในขณะที่ภาครัฐเอง ควรที่จะกำหนดอัตราการลดหย่อนภาษี โดยนำค่าจ้างไปหักภาษีเป็น 2 เท่าที่จ้าง โดยให้อัตราค่าจ้างไม่ควรต่ำกว่า 70 %รวมทั้งควรยกเว้นการเก็บเงินขาเข้าประกันสังคมร่วมด้วย" นายพูนศักดิ์ กล่าว
ส่วนนางวรรณา ดุลยสิทธิพร ในฐานะกรรมการเสริมสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ประเมินว่า ความต้องการจำนวนแรงงานภายในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแรงงานส่วนใหญ่เริ่มเคลื่อนย้ายไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น เนื่องจากมีฐานเงินเดือนที่ค่อนข้างสูงมาก ประกอบกับนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่เป็นแรงจูงใจ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องการแรงงานมากกว่า 100,000 คน คิดเป็น 40%ของจีดีพี ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ยังขาดกำลังแรงงานมากกว่า 60,000 คน เพราะฉะนั้นภาพรวมของการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตจะเพิ่มขึ้นถึงรวมกว่า 300,000คน ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานผู้สูงอายุที่กำลังจะเกษียณอีก ซึ่งตัวเลขของอายุพบว่า กลุ่มแรงงานอายุ 25-39 ถือเป็นกลุ่มที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตรากำลังแรงงานของต่างประเทศ อย่างประเทศเกาหลี อายุเฉลี่ยของแรงงานที่เกษียณอยู่ที่ 60 ปี ญี่ปุ่น 65 ปี สิงคโปร์ 65 ปี ส่วนประเทศอเมริกาอยู่ที่ 67 ปี แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกอายุการเกษียณราชการอย่างเป็นทางการออกไปแล้ว ในขณะที่ประเทศออสเตเรียไม่มีอายุการเกษียณราชการแต่มีอายุให้รับเงินบำเหน็จแทน ซึ่งจะเริ่มได้เงินบำเหน็จตั้งแต่อายุ 55-70 ปี "ข้อเสนอที่จะเป็นแนวทางลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คือต้องขยายอายุเกษียณราชการจาก 55 ปี ไปเป็น 60 ปี เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน และดำเนินการทำสัญญาการจ้างงานปีต่อปีจนกว่าแรงงานจะอายุครบ 60 ปี และต้องอนุญาตให้พนักงงานสามารถแจ้งความจำนงขอต่อการเกษียณอายุได้โดยสมัครใจ"
รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สะท้อนมุมมองในแง่การทำงานของผู้สูงอายุว่า โครงสร้างการขาดแคลนประชากรเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ซึ่งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วยการขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุนั้น ยังไม่เพียงพอ เพราะขณะนี้สังคมไทยยังมีปัญหาการสร้างหลักประกันชราภาพร่วมอยู่ด้วย ผู้สูงอายุทุกคนต้องการทำงานต่อและต้องการได้บำนาญ ไม่ใช่เพียงแค่การขยายอายุการทำงาน จึงมีความจำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมประเด็นอื่นด้วย "ผู้สูงอายุไม่อยากให้นายจ้างมองว่าเป็นการสงเคราะห์ ซึ่งการที่นายจ้างให้ทำงาน เขาพวกต้องมีพร้อมและสามารถช่วยเพิ่มผลประกอบการได้ด้วย แต่อีกแง่หนึ่งการฝึกอบรมและความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนลักษณะงานให้แก่ผู้สูงอายุของไทยยังมีน้อยเกินไปที่จะพัฒนาศักยภาพ ทางด้านนายจ้างเองก็ควรมีการเปลี่ยนลักษณะงานให้เกิดความสอดคล้องกันด้วย " รศ.ดร.มัทนา กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม 2555
- 45 views