กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่อรัฐบาลเตรียมล้วงลูกขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สายภาคประชาชน ซึ่ง นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานบอร์ดเป็นผู้ดูแลตั้งแต่เริ่ม ด้วยการตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั่งแทน โดยให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข รับหน้าเสื่อเป็นประธานกรรมการสรรหาบอร์ดคนใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง
ทั้งนี้ โครงสร้างบอร์ด สสส. ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีบอร์ดทั้งสิ้น 21 คน โดย 11 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐตามตำแหน่ง ส่วนอีก 9 คน ถือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ นพ.วิชัย ดูแลอยู่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้อาวุโส ยกตัวอย่างเช่น สมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่นั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน หรือ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น ซึ่งแน่นอนทุกคนล้วนมีสายสัมพันธ์อันดีกับ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือดเมื่อปี 2553
โดยอำนาจของบอร์ด สสส. ตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มีหน้าที่ตั้งแต่ กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของกองทุน ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสำนักงาน ไปจนถึงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีจัดสรรเงินกองทุน
ทั้งนี้ โครงสร้างใน สสส. แบ่งสำนักออกเป็น 9 สำนัก โดยแต่ละสำนักสามารถอนุมัติเงินได้หมด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เป็นผู้ประเมิน โดยเงินกองทุนมาจากเงินที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตนำเข้า สุราและยาสูบในอัตรา 2% ของภาษีที่ต้องชำระ โดยแต่ละปีได้รายได้จากเงินบำรุงกองทุน ซึ่งมาจากภาษีสุราและบุหรี่ มากกว่า 3,000 ล้านบาททุกปี
ขณะเดียวกันโครงสร้างของ สสส.นั้น เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งได้น้อยมาก การอนุมัติเงินส่วนใหญ่ มีระเบียบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการเบิกจ่ายอย่างรัดกุม กลายเป็นอีกหนึ่งปริมณฑลที่รัฐบาลแตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นพื้นที่เหล่าผู้นำภาคประชาชน เอ็นจีโอ นำโดย นพ.ประเวศ วะสี จนเป็นที่หงุดหงิดใจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายที่ต้องการนำ สสส.กลับมาอยู่ใต้อำนาจตลอดเวลา
แต่เรื่องไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะ สสส.ที่มีงบประมาณมหาศาล เป็นแหล่งเงินใหญ่สำหรับเอ็นจีโอในประเทศไทยที่จะเขียนโครงการมาเสนอ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในระยะหลังเม็ดเงินมหาศาลที่องค์กรระหว่างประเทศเคยลงมาสนับสนุนเอ็นจีโอไทยนั้น ปัจจุบันถูกกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีลักษณะ “กำลังพัฒนา” มากกว่าประเทศไทย ทำให้ สสส.เป็นกองทุนฯ ที่มีเอ็นจีโอเป็นพวกอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน
เช่นเดียวกับเครือข่ายแพทย์ชนบท ที่หมอประเวศกุมอำนาจมานานหลายสิบปีจนฝังรากลึก และเป็นตัวตายตัวแทนให้ได้ทุกเมื่อ
มิหนำซ้ำ เครือข่าย นพ.ประเวศ ยังส่งออกคนไปเป็นคณะกรรมการในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขาธิการ ซึ่งทั้งสองแห่งต่างก็มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน ทำให้รัฐบาลจ้องชิ้นเนื้อชิ้นนี้ตาเป็นมันมาตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
คนในพรรคเพื่อไทยบางคนถึงกับระบุว่า สสส.และเครือข่าย นพ.ประเวศ ใช้เงินมหาศาลเหล่านี้ เพื่อนำไปเป็นเบื้องหลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือสารพัดม็อบที่ออกมาไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา นพ.ประเวศ ก็ยังออกมาตำหนิ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เนืองๆ แม้แต่การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นั้น คนในรัฐบาลหลายคนก็เชื่อว่า นพ.ประเวศ กลุ่มแพทย์ชนบท มีเอี่ยวด้วย
ความพยายามในการทวงคืนกองทุนสุขภาพตระกูล ส. จึงเกิดขึ้น เริ่มจากการเอาคนของตัวเองไปนั่งยกแผง ตั้งแต่ปลายปี 2554 ภายหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง โดยตั้ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดคคอร์มาร์ท ซึ่งรับตกแต่งภายใน เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย และดึงเอา คณิศ แสงสุพรรณ อดีตบอร์ดการบินไทย คนสนิท โอฬาร ไชยประวัติ เข้ามานั่งเป็นบอร์ดแทน จนทำให้ นพ.วิชัย และกรรมการสายภาคประชาชนไม่พอใจ และไม่เข้าร่วมประชุมบอร์ดในวันที่มีการแต่งตั้ง ตามมาด้วยการลุกฮือของกลุ่มแพทย์ชนบท จนมีออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งในเวลาต่อมา
ตามมาด้วยการเปิดตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คนในด้านการควบคุมงบประมาณ และด้านการต่างประเทศ เพื่อให้ฝ่ายการเมืองส่งคนไปนั่งรองเลขาธิการฯ คุมงบประมาณมหาศาลของ สปสช.ใกล้ชิดมากขึ้น จากเดิมที่ สปสช.แยกออกจากกระทรวงสาธารณสุข เหมือนเป็นคนละหน่วยงาน
ว่ากันว่าภารกิจการแต่งตั้ง นพ.ประดิษฐ เข้าไปควบคุม ก็เพราะดูเหมือนว่า สปสช.แยกตัวเป็นรัฐอิสระเกินไปแล้ว
ไม่ต่างอะไรกับ สสส. ที่ขณะนี้กำลังโดนบีบจากสารพัดวิถีทาง เพราะนอกจากจะมีความพยายามแทรกแซงผ่านการตั้งคณะกรรมการแล้ว ยังต้องจับตาการอนุมัติงบประมาณ ที่มีความพยายามล็อบบี้ผ่านกรรมการที่พิจารณาการสนับสนุนเงินแต่ละโครงการของ สสส. ขณะเดียวกันงบประมาณที่กำหนดไว้ 2% ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เงินที่เคยได้มหาศาลจำกัดลงมา
ค่อนข้างแน่ชัดว่า วันที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนส่วนใหญ่ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี จะหมดวาระลงในปี 2556 นั้น นพ.ประดิษฐ ได้เตรียมล้างไพ่ และส่งคนของตัวเองเข้าไปกุมเงินเด็ดขาด ไม่ให้หลุดรอดแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับความพยายามเปลี่ยนตัว ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนฯ ที่จะหมดวาระในปีเดียวกัน ก็จะต้องถูกเปลี่ยนด้วย โดยแว่วมาแล้วว่า เหตุผลในการเปลี่ยนกรรมการ และผู้จัดการทั้งกระบิ มาจากการดำเนินโครงการ “เมาไม่ขับ” และการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ที่ไม่เป็นผล แม้ สสส.จะรณรงค์มาตลอดก็ตาม
กลายเป็นเรื่อง “ทีใครทีมัน” ของฝ่ายการเมือง ที่จ้องจะฮุบองค์กรสนับสนุนสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจาก “ภาษีบาป” ซึ่งทุกฝ่ายเคยหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นธรรม และสนับสนุนให้เกิดการรณรงค์สาธารณะแนวใหม่ กลายเป็นของเล่นของนักการเมืองไปโดยปริยาย วันนี้จึงเป็นการเริ่มเปิดหน้าต่อสู้ครั้งใหม่ ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับเครือข่ายเอ็นจีโอ และแพทย์ชนบททั่วประเทศ เพื่อยึดขุมทรัพย์ขุมนี้ เข้าไปกัดกินแทน
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 ธันวาคม 2555
- 7 views