เครือรพ.กรุงเทพ เปิดเกมรุกขยายลงทุนหนักทั้งในและต่างประเทศ เปิดโรงพยาบาล ขนาด 100 เตียงในกัมพูชา พร้อมศึกษาตลาด "พม่า" หลังพบจำนวนรักษาในเมืองไทยขึ้นอันดับ 2 แซงลูกค้าตะวันออกกลาง วาดแผน 3 ปีสยายปีกครบ 50 แห่งในไทย ระบุแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตสูง แต่เผชิญปัจจัยเสี่ยง "ขาดแคลนบุคลากร"
นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) หรือ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ใน ปี 2556 บริษัทจะรุกขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยได้เข้าลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลในพนมเปญเพิ่มอีก1 แห่ง ขนาด 100 เตียง จากเดิมมีอยู่ 2 แห่ง เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก คาดเปิดบริการได้ในช่วงกลางปี 2556 ซึ่งจะทำให้ รพ.กรุงเทพ สามารถดูแลกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทั้งในกัมพูชา เวียดนาม และ ลาว
ขณะเดียวกัน ยังมีความสนใจเข้าไปลงทุนในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งเป็นตลาดมีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พบว่าปัจจุบันลูกค้าพม่าที่เข้ามาใช้บริการเครือของรพ. เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทน กาตาร์ คูเวต ส่วนอันดับ 1 เป็นประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้ง "จีน" เข้าใช้บริการมากขึ้นนับเป็นอีกตลาดที่มาแรง
"เราพร้อมด้านการลงทุน อยู่ที่โอกาส อย่างพม่าแม้จะเป็นตลาดที่น่าลงทุนมาก และมีกฎหมายฉบับใหม่เอื้อต่อการลงทุนออกมาแล้ว แต่เมื่อลงลึกในกฎกระทรวงยังไม่มีความชัดเจน รายละเอียดของกฎหมายมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ต้องรอ" นายแพทย์ชาตรี กล่าว
สำหรับตลาดในเมืองไทย บริษัทมีแผนลงทุนใหม่ต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นการลงทุนสร้างใหม่และควบรวมกิจการ ปัจจุบันเครือกรุงเทพ มีโรงพยาบาล 32 แห่ง ตั้งเป้าหมายภายในปี 2558 จะมีสาขาทั้งหมด 50 แห่ง เป็นการเปิดเพิ่ม 18 แห่ง ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้
"ยังบอกไม่ได้ว่าจะซื้อใครเข้ามาเพิ่ม แต่มองว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้ในการเติบโตสูง เห็นได้จากกลุ่มไฮเฮชเฮช ของมาเลเซียซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน ได้เริ่มรุกคืบเข้ามาในเมืองไทยแล้ว ถามว่าน่ากลัวหรือไม่ ต้องตอบว่าน่ากลัว แต่ไม่มีปัญหาสำหรับเครือเรา เพราะมีการเตรียมความพร้อมมาแล้ว 2 ปี" ผู้บริหาร กล่าว
อย่างไรก็ดี จากการขยายเครือข่ายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สัดส่วนรายได้ของลูกค้าต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% ในปี 2558 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 25-30% แนวโน้มผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มสูง
นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อถึงแนวโน้มตลาดโรงพยาบาลเอกชนในปีหน้าว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามารักษาในเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ จีน เป็นกลุ่มใหญ่แห่งอนาคต ส่วนปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจนี้ คือ บุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างขาดแคลน ยิ่งหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คาดว่าจะลูกค้าต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ก่อนเข้าสู่เออีซีในปี 2558 เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เตรียมความพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริการ ตอกย้ำความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและลูกค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 + 1 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน และ จีนตอนใต้ ที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำร่องเปิดตัว "ศูนย์บริการฉุกเฉิน เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ" หรือ Bangkok Emergency Services (BES) อย่างเป็นทางการเพื่อให้บริการส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยวิกฤติ ให้ถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ด้วยระบบ GPS โดยผสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในเครือฯ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ภายใต้งบลงทุน 60 ล้านบาท เปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดเบื้องต้น คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และ ปทุมธานี เริ่มให้บริการตั้งแต่ 21 ธ.ค. นี้ ราคาครั้งละ 1,000 บาท รวมค่าแพทย์ ค่าบริการพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเครื่องมือพิเศษอื่นๆ ในระหว่างการเคลื่อนย้าย เป็นต้น คาดว่ารองรับบริการส่งต่อผู้ป่วยได้กว่า 100 รายต่อวัน ชี้ รพ.ไทยพร้อมรุกเออีซี
แพทย์หญิงสมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช-บีเอ็นเอช กล่าวว่า บริการทางการแพทย์ นับเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งในอนาคต 3 ข้างหน้า หากประเทศไทยต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคอย่างเต็มภาคภูมิ ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการฉุกเฉิน BES จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉินประจำรถพยาบาลทุกคัน พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง
นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ศูนย์บริการฉุกเฉินให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การเข้าถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เหตุเกิดเวลาใด
โดยคุณสมบัติของรถพยาบาลที่ใช้คือสามารถระบุพิกัด หรือตำแหน่งของตัวรถขณะอยู่บนท้องถนน ด้วยระบบจีพีเอส ทำให้สามารถเลือกเส้นทางที่ใกล้ที่สุด และหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ทั้ง 5 โรงพยาบาลได้แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกไปตามศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และ ปทุมธานี โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์โทร. 02-716-9999 ทำหน้าที่ประสานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ป่วย
โดยโรงพยาบาลสมิติเวช ดูแลผู้ป่วยฝั่งตะวันออก รามคำแหง ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล นวมินทร์ ดูแลผู้ป่วยย่านมีนบุรี รังสิต ลาดกระบัง โรงพยาบาลพญาไท 3 ดูแลผู้ป่วยทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ธนบุรี โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ดูแลพื้นที่ในส่วนใจกลางเมืองและเขตใกล้เคียง เป็นต้น
สำหรับราคาหุ้น BGH วานนี้ (21 ธ.ค.) ปิดที่ 114 บาท เปลี่ยนแปลง -0.5 บาท หรือ -0.44%
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 ธันวาคม 2555
- 79 views