จี้รัฐผลักดันกฎหมายตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติเรื่องร้องเรียน 7 อันดับยอดฮิต ประจำปี 2555 ชี้ "บริการสุขภาพและสาธารณสุข" แชมป์ร้องเรียน จากกรณี "แคลิฟอร์เนียว้าว" ปิดให้บริการโดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า พร้อมจี้รัฐผลักดันกฎหมายตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุเป็นช่องทางช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ
วานนี้ (21 ธ.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค เปิดรายงานสถานการณ์ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ประจำปี 2555 โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภาพรวมการร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตลอดทั้งปี 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 ธ.ค. รวมทั้งสิ้นกว่า 1,446 ครั้ง แบ่งตามลำดับร้องเรียน ดังนี้ 1.ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 718 ครั้ง 2.ด้านการเงินและการธนาคาร 292 ครั้ง 3.ด้านอสังหาริมทรัพย์ 124 ครั้ง 4.ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 96 ครั้ง 5.ด้านบริการสาธารณะ 95 ครั้ง 6.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 79 ครั้ง 7.ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง 27 ครั้ง และ 8.ด้านอื่นๆ 15 ครั้ง
สำหรับรายละเอียดเรื่องร้องเรียนนั้น นางสาวสารี กล่าวว่า ประเด็นร้องเรียนด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ในปีนี้ ถือว่ามีจำนวนครั้งที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากกรณี ศูนย์ออกกำลังกายแคลิฟอร์เนียว้าวปิดให้บริการโดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ขณะเดียวกันกลับยังมีการรับสมาชิกตลอดชีพ ทั้งที่ทางผู้ประกอบการทราบดีว่าธุรกิจจะไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการเรียกร้องและสืบหาหลักฐาน พบว่าตั้งแต่ปี 2552 ธุรกิจมีหนี้สินมากกว่ารายได้รวมและมีแนวโน้มล้มละลาย
และแม้ว่าจะมีการปิดให้บริการลงไปแล้ว แต่กลับไม่คืนเงินค่าบริการให้กับลูกค้า ที่จ่ายเงินค่าสมาชิกไปแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งการจ่ายค่าบริการส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายผ่านบัตรเครดิตทันที โดยทั้งปีเฉพาะกรณีนี้ มีผู้ร้องเรียนเข้ามาถึง 680 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท นอกจากนี้ประเด็นเรื่องมาตรฐานการรักษา ระบบการส่งต่อ และการใช้สิทธิในกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งเกิดจากความเข้าใจและตีความที่ไม่ตรงกัน ระหว่างผู้ใช้บริการและ ผู้ให้บริการ ว่าอาการป่วยลักษณะไหนที่เข้าข่ายใช้สิทธิฉุกเฉินได้
ส่วนด้านการเงินและการธนาคาร พบประเด็นร้องเรียนมากที่สุด คือ การปิดบังการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านตู้กดเงิน โดยในใบสลิปไม่มีการแสดงค่าธรรมเนียม แต่เมื่อนำสมุดบัญชีเงินฝากไปอัพเดท กลับมีค่าธรรมเนียมปรากฏอยู่ในรายการ รองลงมาคือปัญหาการถูกธนาคารฟ้องร้องให้ชำระหนี้สินทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการ จากความผิดพลาดของระบบธนาคาร แต่ผู้บริโภคกลับต้องแบกรับภาระในการต่อสู้เรียกร้องด้วยตัวเอง นอกจากนี้ปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต จากการเรียกเก็บเงินโดยไม่เก็บเป็นความลับส่วนบุคคล มีการโทรไปติดตามหนี้สินจากหัวหน้างาน หรือจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งในปีนี้ผู้บริโภคถูกฟ้องร้องคดีหนี้สินบัตรเครดิตมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ที่อ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เข้าเงื่อนไขการรับประกัน
ขณะที่ด้านอสังหาริมทรัพย์ประเด็นที่ส่งผลกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ คือ การผิดสัญญาซื้อขายของบ้านเอื้ออาทร ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ เมื่อจ่ายค่างวดช้าก็จะถูกทางธนาคารร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยอ้างว่าทางการเคหะได้ซื้อคืนบ้านคืนแล้ว หาก ผู้บริโภคยังต้องการอาศัยอยู่ต้องจ่ายค่าเช่าคืนละ 100 บาท และท้ายสุดทางการเคหะก็จะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อขับไล่ให้ผู้บริโภคออกจากบ้านหลังนั้นไป ส่วนปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับอาคารชุด เป็นเรื่องการก่อสร้างล่าช้าของโครงการ การยึดเงินจองจากผู้บริโภค นอกจากนี้ปัญหาเกี่ยวกับบริการห้องเช่า มีการร้องเรียนเรื่องการเก็บค่าน้ำค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง โดยไม่คืนเงินประกัน โดยอ้างเรื่องความเสียหายของ ห้องเช่า
ด้านบริการสาธารณะ เรื่องร้องเรียนที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ รถโดยสารขนาดใหญ่ พบปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารได้รับความเสียหายสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ทรัพย์สินสูญหายระหว่างเดินทางและไม่ได้รับการชดใช้เต็มจำนวน เพราะผู้ให้บริการอ้างว่าจะชดเชยได้ไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้าง พบการเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง ปฏิเสธรับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอ้วน ขับรถหวาดเสียวทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย พูดจาไม่สุภาพตวาดผู้โดยสาร และทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง
"ขณะที่รถตู้โดยสาร พบการบรรทุกเกินจำนวน ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สูงสุดที่ความเร็ว 146 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับรถหวาดเสียวและเก็บค่าบริการแพง โดยขณะนี้มีการนำรถตู้ 18 ที่นั่งมาให้บริการ ทั้งที่ไม่ผ่านการตรวจสอบในด้านความปลอดภัยของตัวรถ และมีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายใช้รถตู้ 3 คัน แทนรถทัวร์ 1 คัน ทำให้รถตู้เพิ่มมากขึ้นเกินควบคุม" นางสาวสารี กล่าว
นางสาวสารี ยังกล่าวอีกว่า ในด้านสื่อและโทรคมนาคม พบว่ามีลักษณะของการได้รับซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินภายหลัง ทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการเป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาสูงสุดในขณะนี้ ซึ่งภายหลังที่ประชาชนได้รับแจกซิมฟรีไปแล้วเพียง 3 วัน จะมีการแจ้งยอดเงินที่ต้องชำระ ไม่ว่าจะมีการเปิดใช้หรือไม่ใช้บริการก็ตาม จึงถือเป็นเรื่องที่เอาเปรียบผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายการตลาดของแต่ละผู้ให้บริการเครือข่าย จะมีส่วนรู้เห็นกับการแจกซิมฟรีลักษณะนี้ด้วย
"สถานที่แจกจะเน้นสถานที่ที่มีคนเดินทางผ่านคับคั่ง เช่น อนุสาวรีย์ชัยฯ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งเอกมัย สถานีขนส่งสายใต้ และตามตลาดนัดหัวเมืองใหญ่ นอกจากนี้ยังพบปัญหาวันใช้บริการหมดแต่เงินไม่หมด แต่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการประกาศยกเลิกการจำกัดวันใช้งานไปแล้ว" นางสาวสารี กล่าว
ส่วนด้านสินค้าและบริการทั่วไป เช่น สาธารณูปโภคไฟฟ้าและประปา พบการเก็บบริการที่สูงเกินจริง ในช่วงเวลาที่เกิดเป็นช่วงน้ำท่วมและผู้ร้องไม่ได้อยู่บ้าน และด้านสายการบิน พบปัญหาสายการบินโลว์คอสท์ ยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือแจ้งแบบกระชั้นชิด กระเป๋าสัมภาระหาย ซื้อตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตและถูกหักเงินจากบัตรเครดิตซ้ำ 2 ครั้ง
ในขณะที่ด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง พบปัญหาการแอบอ้างขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเสมือนยารักษาโรคในระบบโซเชียลมีเดีย ทีวี วิทยุ โดยไม่มีการควบคุมหรือกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เร่งผิวขาว หน้าเด้ง หน้าใส หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่เสริมสมรรถภาพทางเพศ ก่อให้เกิดอันตรายกับ ผู้บริโภค และการนำอาหารหมดอายุจำหน่ายในห้างร้าน โดยระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุไม่ชัดเจน การติดฉลากกำกับโดยไม่มีภาษาไทยจี้ตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับข้อเสนอด้านนโยบายที่มูลนิธิเพื่อ ผู้บริโภคเสนอต่อรัฐ แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนั้น นางสาวสารี กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเสนอนโยบายเพื่อแก้ไข ปัญหาด้านสิทธิผู้บริโภคกับภาครัฐมาโดยตลอด ทั้งเสนอบริการสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยผู้ประกันตนต้องไม่ร่วมจ่ายเรื่องบริการสุขภาพและนำไปใช้ในสิทธิประโยชน์อื่น จี้รัฐออกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยชั้น 1 (ประกันภัยภาคสมัครใจ) ปรับโครงสร้างและการคิดราคาก๊าซให้เป็นธรรมในทุกประเภทการใช้งาน เช่น ภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน (หุงต้ม) และ ภาคขนส่ง (ยานยนต์)
"และในปี 2556 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเร่งผลักดันกฎหมายตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้เป็นศูนย์รวมในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระที่เมื่อเกิดประเด็นร้องเรียน และข้อเรียกร้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเมื่อไหร่ ทางหน่วยงานภาครัฐจะต้องรีบออกมาตอบคำถามทันที ว่าจะสามารถดำเนินนโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการแก้ปัญหาดังกล่าว" นางสาวสารี กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 ธันวาคม 2555
- 77 views