ลูกจ้างสายสนับสนุนเรียกร้องผู้บริหาร สธ.ชี้แจงเหตุผลไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ด้านสภาการพยาบาลจี้รัฐบาลเร่งวางแผนผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ระบบ
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นายวัฒนะชัย นามตะ แกนนำกลุ่มสหวิชาชีพ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นัดชุมนุมในวันที่ 21 ธันวาคม ที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการบรรจุเป็นข้าราชการว่า ขณะนี้เจ้าพนักงานสหวิชาชีพต่างๆ ประกอบด้วย เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชสถิติ และเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา ประมาณ 1,000 คน นัดแต่งชุดดำชุมนุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการไว้ทุกข์ให้กับความไม่ชัดเจนในเรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ
"เจ้าพนักงานดังกล่าวล้วนทำงานมาด้วยความยากลำบาก และทำงานมานาน แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว แต่กลุ่มพยาบาลได้รับการช่วยเหลือแล้ว จึงต้องขอให้ผู้บริหาร สธ.ชี้แจงเรื่องนี้ เพราะพวกเราเป็นนักเรียนทุน 2 ปี ของสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งสังกัด สธ.เช่นกัน แต่ไม่ได้รับการบรรจุมาเกือบ 10 ปี ในการรวมตัวกันครั้งนี้จะมาทวงถามความชัดเจน อย่าเรียกว่าประท้วง ให้เรียกว่าไปรับฟังข้อชี้แจงดีกว่า" นายวัฒนะชัยกล่าว
นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัด สธ. เคยประกาศประท้วงหยุดงานในวันที่ 1-3 มกราคม 2556 หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดูแลมากกว่าลูกจ้างชั่วคราวทั่วไปว่า จากการหารือร่วมกับ สธ. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า สธ.จะมีการปรับสถานะของภาคีกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวทั่วประเทศที่อยู่นอกเหนือจาก 21 สายงาน ให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) ซึ่งเบื้องต้นจะได้รับเบี้ยยังชีพ ปรับเงินเดือนให้ตามวุฒิการศึกษา และมีสวัสดิการให้คล้ายกับข้าราชการ จึงถือว่ายอมรับได้และยุติการนัดหยุดงานในวันดังกล่าว
วันเดียวกัน ที่สภาการพยาบาล ศ.เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล แถลงข่าวขอบคุณกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการว่า ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลมอบให้กับพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว แต่สิ่งที่จำเป็นคือ ต้องแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 400 คน ขณะที่สิงคโปร์มีพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 200 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วไทยยังขาดแคลนพยาบาลอยู่อีก 40,000 คน เพราะปัจจุบันประเทศไทยผลิตได้ 8,000 คนต่อปีเท่านั้น เนื่องจากผลิตได้เท่าใดก็จะมีอีกร้อยละ 20 ที่ทยอยเกษียณอายุราชการ อีกทั้งปัจจุบันอาจารย์พยาบาลก็ไม่เพียงพอ ขณะนี้มีประมาณ 4,417 คน ต้องเพิ่มอีก 1,200-1,500 คน จึงจะเพียงพอ โดยปัจจุบันสัดส่วนของอาจารย์พยาบาล 1 คน ต่อพยาบาล 8 คน จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งวางแผนแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 ธันวาคม 2555
- 1 view