สธ.ใช้โมเดล '30 บาท พลัส' ตั้งกองทุนรักษาพยาบาล ขรก.ท้องถิ่น 5.3 แสนคน ชี้สิทธิไม่ด้อยไปกว่าสวัสดิการข้าราชการ คาดได้ข้อสรุป ม.ค.56
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมระบบหลักประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ที่ผ่านมา อปท.มีปัญหาในเรื่องการรับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ จากสถิติการคำนวณค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลย้อนหลัง 3 ปี พบว่ามีประมาณ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายที่ อปท.ได้รับปีละ 5 แสนล้านบาท จึงมีการหารือร่วมกับผู้แทน อปท. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สธ. ถึงการให้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ในหลักการขั้นต้นจะมีการตั้งกองทุนกลางการรักษาพยาบาล โดยจะหักเงินจากงบประมาณเงินอุดหนุน อปท.ที่มีอยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาท และกระจายลงสู่ท้องถิ่นตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยหักไว้ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งงบประมาณอาจเป็น 5,000-6,500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการประมาณการ
"เงินก้อนนี้แยกตั้งแต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี สปสช.เป็นผู้บริหารกลางแทน คล้ายๆ เคลียริ่งเฮาส์ (Clearinghouse) ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลนั้น อยู่ระหว่างหารือ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งต้องไม่แตกต่างจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าอาจใช้สิทธิการรักษาในรูปแบบ 30 บาท พลัส (Plus) โดยจะมีสิทธิต่างๆ เพิ่มเติม เรื่องนี้คาดว่าจะชัดเจนในเดือนมกราคม 2556 และจะจัดทำข้อตกลงสร้างความ เข้าใจเบื้องต้น หรือเอ็มโอยู ร่วมกันต่อไป" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ขั้นต่อไปจะเป็นการหารือเรื่องสิทธิประโยชน์กับระบบการทำงาน แต่จะต้องระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เหมือนระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท.มี 7,900 แห่งทั่วประเทศ 537,692 คน ซึ่งรวมพ่อแม่ คู่สมรส และบุตร ซึ่งการดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องครอบคลุม ทั้งหมด โดยรูปแบบการให้สิทธิ 30 บาทพลัสนั้น เป็นเพียงข้อเสนอ โดยมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าพยาบาลพิเศษ รวมทั้งสิทธิการรักษาต่างๆ เช่น กรณีการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคทั่วไปไม่มี อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังต้องหารือว่า อปท.ทั่วประเทศต้องการรูปแบบใด สำหรับการดูแลกองทุน ดังกล่าว มีคณะกรรมการบริหารกองทุนแยกออกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากนี้ไป สปสช.มีหน้าที่ดูแล 2 กองทุน ซึ่งจะคิดค่าบริหารเพิ่มเติมอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี และคาดว่าค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณ 9,900 บาทต่อคน
นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วน ตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พนักงาน อปท.ส่วนใหญ่ต้องการ ใช้สิทธิข้าราชการ และไม่เห็นด้วยหากจะใช้รูปแบบ 30 บาทพลัส เพราะเป็นเพียงการรักษาพื้นฐานเหมือนกับการใช้สิทธิ 30 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 ธันวาคม 2555
- 1 view