คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ ตั้งเป้าคุมเบิกจ่าย 'ยาลดไขมัน' หลังลดค่าใช้จ่าย 'กลูโคซามีน' ได้ผล ชี้เป็น 1 ใน 9 ชนิดที่ทำงบฯราชการพุ่ง
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ มีมติให้เบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมได้ตามข้อบ่งชี้ และมาตรฐานทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยนั้น
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ ครั้งที่ 7/2555 ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ โดยได้กำหนดราคาอ้างอิงเพื่อการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนของกรมบัญชีกลาง ซึ่งภาพรวมสามารถลดราคาลงได้ 3 เท่า ของราคาในยาทุกขนาด ได้แก่ 1.ยากลูโคซามีนขนาด 250 มิลลิกรัม ให้เบิกราคาต่อหน่วยตามราคาต้นทุนยาที่จัดซื้อจริง แต่ไม่เกิน 3 บาท 2.ยากลูโคซามีนขนาด 500 มิลลิกรัม เบิกได้ไม่เกิน 5 บาท และ 3.ยากลูโคซามีนขนาด 1,500 มิลลิกรัม เบิกได้ไม่เกิน 15 บาท หากสามารถใช้ราคายาดังกล่าวได้จริง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายยากลูโคซามีนเหลือปีละ 3-4 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่ไม่มีมาตรการใดๆ มีมูลค่าการใช้สูงถึงปีละ 900 ล้านบาท
นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า จากนี้จะแจ้งผลการกำหนดราคากลางเบิกจ่ายกลูโคซามีนของคณะอนุกรรมการให้กรมบัญชีกลางเพื่อใช้เป็นบัญชีในการเบิกจ่ายยาต่อไป นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการจะเดินหน้าในเรื่องของยาลดไขมัน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่มของยาที่มีปริมาณการใช้สูงในกลุ่มสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีปริมาณการใช้ราว 200-300 ล้านบาท
"จะพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นถึงสาเหตุมีค่าใช้จ่ายในยาชนิดดังกล่าวสูง มีการใช้ยาสมเหตุสมผลหรือไม่ ประสิทธิผลเป็นอย่างไร หากยังจำเป็นต้องใช้ยานี้ต่อไปจะทำให้ราคาถูกลงได้อย่างไร ส่วนคณะอนุกรรมการกำหนดแนวเวชปฏิบัติ ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาพยาบาล จะดำเนินการในเรื่องของข้อบ่งชี้ในการใช้ยา เมื่อแล้วเสร็จก็จะดำเนินการยากลุ่มอื่นต่อไป หากทำให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลได้ทั้ง 9 กลุ่ม จะลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้ถึง 4,000-5,000 ล้านบาท" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า จากนี้จะเน้นดำเนินการตามข้อบ่งชี้มาตรฐานการทางการแพทย์เป็นหลัก แต่อาจไม่จำเป็นต้องออกเป็นประกาศกรมบัญชีกลางกับยาควบคุมทุกชนิด อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการได้เสนอให้ สธ. กรมบัญชีกลาง และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เห็นชอบหลักการบริหารจัดการยาบางรายการร่วมกัน โดยคัดเลือกรายการยาที่เหมาะสม เพื่อให้ อภ.ต่อรองราคายา และให้โรงพยาบาลต่างๆ จัดซื้อจาก อภ. จึงเห็นควรให้ตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาคัดเลือกรายการยาและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินงานร่วมกัน อีกทั้งได้เสนอแนะระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่ายของแต่ละสถานพยาบาลด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 ธันวาคม 2555
- 6 views