เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้รัฐบาลนำร่างกรอบเจรจาอียูรับฟังความคิดเห็นก่อนเข้าสภา เตือนอาจเสี่ยงผิดรธน.

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทันทีที่เปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ 21 ธ.ค.นี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยร่างกรอบฯต่อสาธารณชนและยังไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นในร่างกรอบ หากรัฐบาลไม่จัดรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบอาจเสี่ยงต่อการผิดรัฐธรรมนูญ

"นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์จะนำร่างกรอบเจรจารับฟังความเห็นก่อนเข้ารัฐสภา เพราะตามมาตรา 190 วรรค 2 ระบุให้รัฐต้องให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งการจัดเวทีของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้มีความพยายามรวบรัดเพื่อสนองฝ่ายธุรกิจ ทางเอฟทีเอว็อทช์ขอเสนอให้รัฐบาลทำเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ มิเช่นนั้นอาจตกหลุมความเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญอีก จึงควรเปิดร่างกรอบฯให้สาธารณะให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้การจัดรับฟังความเห็นกรอบการเจรจาดังกล่าว จะไม่ทำให้กระบวนการโดยรวมล่าช้าออกไปแต่อย่างใด" นายจักรชัย กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ทางเอฟทีเอว็อทช์จะไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะให้เสนอรัฐสภาโดยไม่เคยนำร่างกรอบไปรับฟังความคิดเห็น

ทางด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์เสริมว่า ขณะนี้ทางทีมวิชาการกำลังเร่งจัดทำเอกสารให้กับสมาชิกรัฐสภา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปและผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น "เราไม่อาจปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ให้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะจากข้อมูลที่เข้าที่ประชุมครม.พบว่า มีการพยายามสร้างตัวเลขความเสียหายหากไม่มีการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปอย่างเกินจริง ขณะที่ประเด็นผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสังคมกลับไม่แจกแจงให้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจเห็นอย่างชัดเจนเพียงพอ"

สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หัวข้อในร่างกรอบเจรจาไม่มีการบรรจุเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ภาคธุรกิจไม่ยอมเจรจา ทั้งๆที่การเจรจาในประเด็นนี้จะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน แรงงานและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

"นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเจรจาไม่สามารถเจรจาประเด็นที่ฝ่ายไทยไม่ต้องการได้ เมื่อภาคธุรกิจไม่อยากเจรจารัฐบาลรับฟัง แต่เหตุใดข้อห่วงกังวลของประชาชนที่ว่า การเจรจาเอฟทีเอกับอียูจะทำให้ยาแพง ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มนักดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่ และบ่อนทำลายนโยบายสาธารณะ กลับไม่ถูกรับฟัง"น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ทั้งนี้ บ่ายวันที่ 11 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนจะพิจารณาข้อร้องเรียนของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯและพวกที่ร้องว่า การเร่งเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน