ภาคีลูกจ้างชั่วคราวสังกัด'สธ.'ขู่หยุดงาน 1-3 ม.ค.56 นัดชุมนุมที่กรุงเทพฯ เหตุไม่พอใจผู้บริหารเมินดูแลกลุ่มนอกเหนือ 21 สาขาวิชาชีพด้วย 'ประธานภาคี'เผยเรียกร้องให้บรรจุบุคลากรกลุ่มนี้เป็น'พนง.ราชการ'7 ครั้ง แต่ไร้ผล
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่5 ธันวาคม กรณี นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แสดงความวิตกกังวลเรื่องผู้บริหาร สธ.มีแผนจะใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลจ่ายเป็นเงินเดือนลูกจ้างสายวิชาชีพคนละ 1.2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ หลังปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงาน สธ. ซึ่งจะส่งผลทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ยิ่งขาดสภาพคล่องทางการเงินว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวมาเจรจากับพนักงานลูกจ้างชั่วคราว ได้มีการศึกษาเบื้องต้นแล้วว่า ทันทีที่รัฐบาลเริ่มขั้นตอนบรรจุพนักงานลูกจ้างชั่วคราวของ สธ. จำนวน 17,000 คน เป็นข้าราชการตามแผน 3 ปี ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวทั่วประเทศ โดยจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 11 ธันวาคมนี้นั้น ลูกจ้างสายวิชาชีพทั่วประเทศจะเหลือที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงาน สธ.เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างลดลงเกือบร้อยละ 50
"ในจำนวนลูกจ้างดังกล่าวจะเหลือเพียง7,500 คน ที่ได้รับเงินเดือน 1.2 เท่าของข้าราชการ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเดิมมากสามารถใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลได้สบายๆแต่หากโรงพยาบาลใดเกิดปัญหา ผมยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยหรือทอดทิ้งให้โรงพยาบาลเจ๊งอย่างแน่นอน และในระหว่างที่ดำเนินการเรื่องนี้จะมีทีมงานเข้าไปตรวจสอบระบบบัญชีของโรงพยาบาล ถ้าพบว่า โรงพยาบาลแห่งใด โดยเฉพาะโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารเกิดขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนกลางก็จะจัดสรรงบประมาณลงไปเติมเต็มให้ ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลที่ตกอยู่ในสภาพนี้อาจจะมี แต่จะน้อยมาก ดังนั้นจึงเตรียมจะส่งทีมงานลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือให้ตรงจุดต่อไป" นพ.ประดิษฐกล่าว
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า ปัจจุบันเงินบำรุงของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จ่ายเป็นเงินเดือนให้กับลูกจ้าง และค่าจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ฉะนั้น หากใช้เงินส่วนนี้จ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่หมด ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลจะจัดซื้อยาไม่ได้เพราะส่วนใหญ่เป็นการซื้อยามาก่อน แต่จ่ายทีหลัง มีเครดิต 1 เดือน แม้ตัวเลขทางบัญชีจะติดลบ แต่จะมีเงินสดหมุนเวียนแน่นอน
ด้านนางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวที่ จ.นครราชสีมา ว่าตามที่ผู้บริหาร สธ.มีมติที่จะช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราว
สังกัด สธ. แต่มีข้อแม้ว่าจะช่วยเหลือในด้านสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม 21 สาขาวิชาชีพเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่มีตำแหน่งพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ และพนักงานทั่วไป ทางผู้บริหารสธ.ไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบุคลากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีภาระงานหนักมากต้องแบกภาระบริการคนไข้และประชาชนทั่วไปที่มารับบริการในสถานพยาบาลต่างๆ ของรัฐ ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป รวมทั้งช่วยสนับสนุนการทำงานของข้าราชการ เช่น เช็ดตัวคนไข้ ป้อนข้าวและอาหาร ทำความสะอาดอุปกรณ์สำหรับในงานคนไข้ และสถานที่ห้องน้ำ ทำอาหาร ซักเสื้อผ้าคนไข้ เก็บขยะทุกประเภท หรือหน่วยบริการศูนย์เปลที่นำคนไข้ไปทำหัตถการต่างๆ ที่แพทย์สั่ง
"บุคลากรกลุ่มนี้ต้องทำงานหนักมากและเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อร้ายแรงจากสารคัดหลั่งในตัวคนไข้ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนเวลาเดินทางมาทำงานเวรบ่าย เวรดึก เพราะที่พักบุคลากรกลุ่มนี้ไม่มีในสถานที่ทำงาน และที่สำคัญลูกจ้างที่ทำงานโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเสี่ยงต่อภัยผู้ก่อการร้าย ต้องเดินทางมาปฏิบัติงานในเวลากลางคืน เช่นเดียวกับกลุ่ม 21 วิชาชีพ แต่ผู้บริหาร สธ.กลับไม่ให้ความสำคัญแก่บุคลากรกลุ่มนี้เลย มุ่งเน้นให้ความสำคัญแต่เฉพาะกลุ่ม 21 วิชาชีพเท่านั้น ทั้งที่ลูกจ้างกลุ่มนี้ก็เรียกร้องมาโดยตลอดในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา" นางกนกพรกล่าว
นางกนกพรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนเองและภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯเคยทำหนังสือเรียกร้องรัฐบาลและผู้บริหาร สธ.ในหลายรัฐบาล เพื่อ ขอบรรจุและดูแลสวัสดิการแก่ลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้มาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 โดยยื่นเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากนั้น ได้ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรี สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด และล่าสุดครั้งที่7 ได้ยื่นต่อนายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ให้ผู้บริหาร สธ.ดูแลสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวให้ดีขึ้น และบรรจุเป็นพนักงานราชการด้วย
"ดิฉันอยากทราบว่า ผู้บริหาร สธ.ชุดปัจจุบันมีแนวคิดเช่นไร ทำไมไม่เห็นความสำคัญของบุคลากรกลุ่มดังกล่าว คิดเพียงว่าบุคลากรกลุ่มนี้เป็นบุคลากรชั้น 3 ขององค์กรที่เขี่ยให้เป็นบุคคลตกขอบ เป็นบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพไม่มีความสำคัญต่อองค์กร เพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 21 วิชาชีพ ที่กระทรวงจะต้องดูแลอย่างดีพิเศษลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มนี้จึงจะขอหยุดงานระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม 2556" นางกนกพรกล่าว และว่าขอฝากข่าวไปถึงเพื่อนๆ ลูกจ้างชั่วคราวทั่วประเทศทุกคนได้ทราบว่า วันที่ 1-3 มกราคม2556 กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจะขอหยุดงานเพื่อไปร่วมชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 ธันวาคม 2555
- 1 view