บอร์ด สปสช.ผ่านมติตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง คาดแล้วเสร็จใน 1 เดือน กรรมการฝั่งเอ็นจีโอวอล์กเอาต์ไม่ร่วมโหวต แต่ยืนยันจับตาว่าจะส่งคนการ เมืองเข้ามานั่งหรือไม่ เผยถ้าเป็นคนใน สปสช.เลื่อนขั้นขึ้นมารับตำแหน่งก็ยินดี"หมอประดิษฐ" ชิ่ง ไม่เกี่ยวการเมือง เป็นฝ่ายบริหารเสนอมา ส่วนเลขาฯ สปสช.แจงงานเพิ่มต้องมีคนทำงานเพิ่ม

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม 2 ตำแหน่ง โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหาร ว่า เรื่องนี้คงไม่มีการเมืองเข้าแทรก เพราะเป็นการนำเสนอของฝ่ายบริหารที่ขอเพิ่มตำแหน่ง ซึ่งในที่ประชุมบอร์ดก็ได้มีการพิจารณากันอย่างกว้างขวาง และที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ทางฝ่ายบริหารพิจารณาว่าจะถอนเรื่องนี้ออกไปหรือไม่แต่ก็มีการยืนยันให้นำเสนอเป็นวาระเข้าพิจารณา ทั้งนี้ การแต่งตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มเติมไม่ได้เป็นการขอเพิ่มอัตราตำแหน่ง แต่เป็นการขอขยับบางตำแหน่งขึ้นเป็นรองเลขาธิการ สปสช.แทน ซึ่งจำนวนบุคลากรใน สปสช. 870 ตำแหน่งก็ยังมีเท่าเดิม

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีบอร์ด สปสช.ที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนวอล์กเอาต์ไม่ลงมติในเรื่องนี้เมื่อเขาไม่เห็นด้วยก็ใช้สิทธิ์งดออกเสียง ส่วนที่เดินออกจากห้องประชุมคงมีธุระ และเห็นว่าวาระต่อไปเป็นแค่วาระเพื่อทราบไม่ได้มีอะไรที่ต้องประชุมต่อ

"เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรเพราะเป็นเรื่องการบริหารภายในของสปสช. เราเพียงแต่อนุมัติตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอมาเท่านั้น อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการสรรหาก็เป็นเรื่องภายในโดยบอร์ดคงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง" รมว.สธ.กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การนำเสนอขอแต่งตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม เนื่องจากงานของ สปสช.ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมามาก ทั้งการเป็นศูนย์เคลียริงเฮาส์ การสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งจากกรณีของการรวมบริหารกองทุนฉุกเฉิน ทำให้รู้ว่า สปสช.เริ่มมีภาระงานที่เพิ่มเข้ามามาก นอกจากนี้จะยังมีภาระการพัฒนาระบบของ 3 กองทุน โดยรัฐบาลต้องการให้มีการเดินหน้าในส่วนของโรคมะเร็งต่อ หลังจากที่ได้ทำในเรื่องของเอดส์และไตไปแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงการบริหารเริ่มแรก สปสช.มีเจ้าหน้าที่เพียงกว่า 200 คน มีรองเลขาธิการ 3 คน แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ สปสช.มีถึง 870 คนแล้ว ซึ่งต้องบริหารเงินนับแสนล้านบาท จึงไม่ต้องพูดถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเพิ่มเติม อีกทั้งในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการต่างๆ รวมถึงการตอบคำถามในสภา ต่างก็ต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น

"ตอนนี้ สปสช.มีบทบาทในระบบรักษาพยาบาลและระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องใช้คนที่มีความสามารถในการเข้าร่วมประชุมและเจรจา" เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า ส่วนการคัดเลือกอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะพิจารณา โดยจะคัดเลือกคนที่มีความสามารถ คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้ ผู้ที่จะมารับตำแหน่งนี้ต้องยึดตามระเบียบ สปสช. คือต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและต้องอายุไม่เกิน 60 ปี

ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการ สปสช. ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การตั้งแต่รองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม 2 ตำแหน่ง ซึ่งบอร์ด สปสช.เห็นชอบเมื่อวันที่3 ธ.ค.2555 เราไม่ได้ห่วงว่าจะมีรองเลขาธิการเพิ่มเป็น 5 ตำแหน่ง แต่เป็นห่วงว่าเรื่องนี้จะเป็นใบสั่งจากฝ่ายการเมืองทำให้บอร์ด สปสช.ที่เป็นผู้แทนภาคประชาชน 5 คน คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม, นพ.วิชัย โชควิวัฒน, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นางสุนทรี เซ่งกี่ และตน เลือกที่จะวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม ไม่โหวตในเรื่องนี้และจะคอยดูหลังจากนี้ว่าผู้ที่มาดำรงตำแหน่งจะมาจากฝ่ายการเมืองหรือไม่

ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ สปสช.อีกราย กล่าวว่า คงต้องรอดูว่าจะมีการแต่งตั้งคนนอกหรือคนในเข้ามาบริหาร ซึ่ง รมว.สธ.ได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่าจะไม่เข้าแทรกแซง ดังนั้นคงต้องรอดู หากเป็นการแต่งตั้งจากคนใน สปสช.จริง จำนวนบุคลากร สปสช.จะต้องไม่เพิ่ม และยังคง 870 คนเช่นเดิม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 5 ธันวาคม 2555