เครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือ"หมอประดิษฐ" ค้านไม่เอาทริปส์พลัส เจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู พร้อมรวมบุกยื่นหนังสือถึงนายกฯ หลัง ครม.เตรียมพิจารณา 4 ธ.ค.นี้ ขู่หากยังดื้อฟ้องศาลปกครองแน่ ด้าน "รมว.สธ." ปัด "ทริปส์พลัส" เป็นคนละเรื่องยันไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบ
ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่3 ธ.ค.2555 เวลา 13.30 น. ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม, กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอชไอวีและเอดส์ การสาธารณสุข (สธ.) และการเข้าถึงการรักษา 15 องค์กร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. เพื่อขอคำยืนยันจากรัฐบาลถึงกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (เอฟทีเอ ไทย-อียู) ว่า รัฐบาลจะต้องเจรจาโดยไม่เอาทริปส์พลัส และการเจรจาต้องไม่ส่งกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการเข้าถึงยาของประชาชน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคประชาสังคมรู้สึกเป็นห่วงในการประชุม ครม.ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ที่จะมีวาระการพิจารณาร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เพราะที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่เคยนำกรอบการเจรจาออกมาเปิดเผย อีกทั้งยังไม่เคยมีการให้ข้อมูลและเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ทำให้รู้สึกกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา รวมไปถึงการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการตกลงในประเด็นดังกล่าวจริงจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนแน่นอน และยังทำให้การพัฒนายาของประเทศล้าหลังลงไปอีก
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู อยู่แค่ในข้อตกลงทริปส์ ตามองค์การการค้าโลกเท่านั้น ต้องไม่เกินเลยไปถึงขั้นทริปส์พลัส ซึ่งจะทำให้คนไทยต้องเชิญกับปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงยา จึงอยากให้รัฐมนตรีเข้าใจและห่วงใยประชาชน ไม่มีความคุ้มค่าเลยจะที่นำไปแลกผลประโยชน์กับการลดภาษีสินค้าบางรายการที่มีเพียงกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มได้ผลประโยชน์
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ.เคยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเจรจาผูกขาดข้อมูลทางยา และการขอขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรเพิ่มเติม แต่พอรัฐบาลเตรียมเดินหน้าเรื่องนี้ต่อกลับไม่มีใครกล้าออกมาพูดหรือเคลื่อนไหวใดๆซ้ำยังมีการเรียกเก็บคืนหนังสือที่เคยแสดงจุดยืนไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานด้านวิชาการของฝ่ายข้าราชการประจำ ทั้งนี้ หากรัฐบาลผ่านความเห็นชอบและมีข้อตกลงด้านยาที่เกินกว่าทริปส์พสัส ทางภาคประชาชนคงต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพราะถือว่าดำเนินการโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อน และที่ผ่านมาทั้ง รมว.สธ. รมว.กระทรวงการคลัง ไม่เคยออกมาแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้เลย
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ประธานมูลนิธิเพื่อเยาวชนเพื่อการพัฒนาเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ เป็นห่วงเรื่องการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้การดื่มเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้นทางเครือข่ายจึงขอคัดค้าน โดยการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านยาและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะรวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาลในวันประชุม เพื่อคัดค้านกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีเพราะไม่ต้องการให้การเจรจาส่งผลให้ราคาเหล้าถูกลง และยาแพงมีราคาแพงขึ้น
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. กล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือว่ายืนยันว่าในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เรื่องของยาไทยจะไม่เสียเปรียบหรือเสียผลประโยชน์ ทุกอย่างจะเท่าเดิม ซึ่งไม่ว่าจะมีข้อเสนอมาอย่างไร ก็สามารถต่อรองได้ ส่วนกรณีที่บอกว่าไม่เอาทริปส์พลัสนั้น ถือเป็นคนละเรื่องกันต้องไม่เอามาปะปนกัน เพียงแต่สิ่งที่ทางอียูเรียกร้องมา หากเราสามารถต่อรองได้ให้เท่าเดิม ทุกอย่างก็จบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการใช้วิธีต่อรองดังนั้นจึงอยากให้รอดูผลสุดท้ายมากกว่า ส่วนที่จะมีการนำกรอบการเจรจาเข้าที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้หรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 4 ธันวาคม 2555
- 1 view