สวัสดีครับคุณผู้อ่าน "ได้อย่างไม่เสียอย่าง" สัปดาห์นี้ต้อนรับวันเอดส์โลกซึ่งตรงกับ1 ธันวา ของทุกปี และพวกเราคนทำงานจะอาศัยจังหวะเวลานี้ในการรณรงค์เรื่องเอดส์เพื่อไปสู่เป้าหมาย Getting to Zer o ให้ได้ นั่นคือลดการติดเชื้อรายใหม่ให้เป็นศูนย์ ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ให้เป็นศูนย์ และลดการรังเกียจตีตราผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์
อย่างไรก็ตาม การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แต่ก็ไม่ใช่ยากจนทำไม่ได้เพียงแต่พวกเราต้องช่วยกัน เริ่มจากการทำให้ตัวเองไม่เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือหากเรามีเชื้ออยู่แล้วก็จะต้องเข้าถึงการรักษาเพื่อไม่เพิ่มตัวเลขการเสียชีวิตจากเอดส์ครับ
แล้วจะทำได้อย่างไร? ผมว่าลองดูจากตัวเลขที่นำมาฝากกันไหมครับข้อมูลจากการให้คำปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ผ่าน "สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663" ระหว่าง 1 ก.ค.-31 ต.ค. 55 พบว่ามีผู้รับบริการทั้งสิ้น 4,462 ราย ในจำนวนนี้โทร.มาปรึกษาเรื่องความเสี่ยงจากกรณีเพศสัมพันธ์ 984 ราย ปรึกษาเรื่องความเสี่ยงจากกรณีออรัลเซ็กซ์ 489 รายปรึกษาเรื่องความเสี่ยงจากกรณีเกี่ยวกับการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง 759 ราย ปรึกษาก่อนการตรวจเลือด 344 ราย และปรึกษาหลังตรวจเลือด 396 ราย
จากข้อมูลพบว่าผู้รับบริการที่กังวลเรื่องความเสี่ยงและโทร.มาปรึกษามีจำนวน 2,232 รายเฉลี่ย 16 ราย/ วัน ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีปีละ 12,000 ราย เฉลี่ยวันละ 32 ราย ซึ่งหมายความว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ได้รับบริการปรึกษาและเป็นไปได้ว่าอาจจะยังประเมินความเสี่ยงของตัวเองไม่ได้ กรณีนี้สำคัญนะครับเพราะหากเรายังไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ก็มีแนวโน้มว่าเราจะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันและเป็นไปได้ว่ากว่าจะรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีก็ป่วยเสียแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตตามมา
หากพวกเราคนทำงานสามารถทำให้คนจำนวนนี้อยากรู้สถานะผลเลือดของตัวเองก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อตัวผู้รับบริการเองและต่อภาพรวมของประเทศ กล่าวคือ ผู้รับบริการก็จะได้วางแผนดูแลสุขภาพได้ หากตรวจแล้ว ผลออกมาว่าติดเชื้อก็จะได้เข้าถึงการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย แต่หากผลออกมาว่าไม่ติดเชื้อก็จะ ได้ป้องกันตัวเองให้ผลเลือดเป็นลบตลอดไป
นอกจากนี้การมีบริการที่มีคุณภาพและสะดวกต่อผู้รับบริการเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก ดังจะเห็นว่าผู้รับบริการจำนวนหนึ่งพุ่งเป้าปรึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้เรามี "สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663" ที่เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 10.00-20.00 น. บริการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้รับบริการเห็นความสำคัญของการตรวจเลือด อย่างไรก็ตาม "สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663" เป็นของพวกเราทุกคน ดังนั้น พวกเราจึงมีหน้าที่ในการสะท้อนบริการและช่วยกันผลักดันให้ 1663 เป็นบริการปรึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานยิ่งๆ ขึ้นไปครับ
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมก็อยากชวนคุณผู้อ่านทุกท่านลองประเมินความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีของตัวเองดูครับ และหากพบว่ามีความเสี่ยง ระบบสาธารณสุขของประเทศก็ให้สิทธิในการตรวจเลือดเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง ส่วนเรื่องการตรวจ รักษา การให้ยาต้านไวรัสที่จะตามมาหากว่าเราติดเชื้อก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ไม่ว่าเราจะใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิราชการก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ผมคิดว่าปัจจุบันระบบสาธารณสุขของบ้านเรามีความพร้อมสำหรับการตรวจรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ครับ หมดสมัยแล้วที่บอกว่า "เอดส์เป็นแล้วตาย" เดี๋ยวนี้ "เอดส์รักษาได้" แล้วครับ เพียงแต่เราต้องรู้ผลเลือดของตัวเองให้เร็วเพื่อให้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีเท่านั้น
จะไปให้ถึงเป้าหมาย Getting to Zero ได้ไม่ได้อยู่ที่ใครเลยครับ อยู่ที่ตัวเราว่า "พร้อม"หรือเปล่าที่จะรู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตัวเอง เหมือนที่ต่างประเทศเขารณรงค์กันว่า....
To be brave and smart to KNOW YOUR STATUS! TAKE THE TEST NOW
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 4 ธันวาคม 2555
- 2 views