'หมอประดิษฐ'ชง ครม. 18 ธ.ค. ขออนุมัติลูกจ้างชั่วคราว 21 สาขาวิชาชีพ เป็นข้าราชการ สธ.22,641 อัตรา ทยอยบรรจุ 3 ปี เริ่ม 1 มกราฯนี้คาดปีแรกใช้งบ 1.6 พันล้าน ที่เหลืออีกกว่า 7 พันอัตรา
ความคืบหน้ากรณีปัญหาเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประกาศว่าพยาบาลลูกจ้างทั่วประเทศ จำนวน 17,000 คน ที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการมาตั้งแต่ปี 2547 เตรียมนัดหยุดงานในวันที่ 1-3 มกราคม 2556
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า ได้หารือกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และสำนักงบประมาณ มีมติร่วมกันว่าในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 ซึ่งจะเริ่มบรรจุตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป จะอนุมัติตำแหน่งบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการของ สธ.ทั้ง 21 สายวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักจิตวิทยา ได้ทั้งสิ้น 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน โดยตำแหน่งที่ได้เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตรา ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขไปก่อน โดยรายละเอียดดังกล่าวจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ และคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอการบรรจุ จะได้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับข้าราชการ ได้อัตราเงินเดือน 1.2 เท่าของข้าราชการ ได้เลื่อนค่าจ้างปีละ 1 ครั้ง ต่อสัญญาทุก 4 ปี มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม และทายาทสายตรง ได้แก่ บิดา มารดา สามีหรือภรรยา และบุตร ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค และมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม มีสิทธิการกู้เงินจากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสิทธิถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย หากพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรายใดพึงพอใจกับสถานะและสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ไม่ต้องการบรรจุเป็นข้าราชการอีก ก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตลอดไป เพราะเป็นแบบสมัครใจ
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงการแบ่งสัดส่วนการบรรจุข้าราชการแต่ละสายวิชาชีพว่า จะมีการหารือ คปร.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเชิญผู้แทนจาก 21 สายงานวิชาชีพเข้าร่วมหารือ และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น จะพิจารณากลุ่ม 21 สายวิชาชีพที่รอการบรรจุตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งมีประมาณ 5,630 คน จากนั้นจึงพิจารณาปี 2550 และปี 2551 รวมถึงการพิจารณาระดับของโรงพยาบาลและความต้องการบุคลากรในแต่ละด้าน เป็นต้น
"เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ในการบรรจุปีแรก ผมยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ให้โรงพยาบาลขาดทุนแน่นอน แม้จะปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มเงินเดือน โดยในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญตัวแทนเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพ และสายวิชาชีพอื่นเข้าหารือ ซึ่งจะมีรัฐมนตรี สธ. ปลัด สธ. และรองปลัด สธ.จะเข้าร่วมด้วย" นพ. ณรงค์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว 17,000 คน จะนัดหยุดงาน นพ.ณรงค์กล่าวว่า ได้หารือกับผู้บริหารของโรงพยาบาล รวมทั้งหัวหน้าพยาบาลของสถานพยาบาลต่างๆ แล้ว ให้เตรียมพร้อมบริการผู้ป่วยเป็นหลักและคำนึงถึงจริยธรรมในวิชาชีพ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการนัดหยุดงานของพยาบาลว่า ถือเป็นสิทธิ แต่ไม่อยากให้ภาพออกมาในลักษณะหยุดงานประท้วง
น.ส.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล สธ. กล่าวว่า พยาบาลที่ต้องการหยุดงานเพราะเหนื่อยกับภาระงานย่อมทำได้ตามสิทธิ แต่มั่นใจว่ายังมีพยาบาลรุ่นพี่คอยให้บริการ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวล
ทางด้านนายวรรณชาติ ตาเลิศ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวดี แต่ไม่มั่นใจ จนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการเข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 3 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ธันวาคม เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพฯจะนัดหารือที่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อนำข้อสรุปเข้าหารือกับนายกฯ ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 ธันวาคม 2555
- 2 views