ภาคเอกชนจี้ "ผู้ประกอบการร้านขายยา" ปรับตัวรับ AEC หลังจากมีแนวโน้มต่างชาติรุกเปิดร้านในไทยเพิ่ม ขณะที่ "ชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย" หวั่นซ้ำรอย ร้านขายของชำทยอยปิดตัวหลังจากค้าปลีกรุกหนัก เตรียมจับมือร้านยาทั่วประเทศ พัฒนามาตรฐาน เพิ่มอำนาจต่อรองและรุกแข่งการตลาด ขณะที่ "ไบโอฟาร์ม " ประกาศความพร้อมเปิดเสรีการค้า เผยปี 2556 ลงทุนเพิ่ม 400 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิต ซ้ำเดินหน้าหาพันธมิตรรุกส่งออกอาเซียน
ในการอภิปราย "ผลกระทบเออีซีต่อผู้ประกอบการร้านขายยา" จัดโดยชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการ "พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านขายยาแห่งประเทศไทย โดย ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร้านยาเป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐในทุกกรณี ทำให้ข้อมูลร้านยาที่มีอยู่ไม่ชัดเจน แต่ทั้งนี้เราก็ควรรู้ว่าการเปิดการค้าเสรีจะมีผลกระทบต่อร้านยาในประเทศอย่างไร
ผลที่เกิดขึ้นมี 2 ส่วน คือ จากการเปิดการค้าเสรีทั้งเอฟทีเอและเออีซี จะทำให้มียาเข้ามาขายในประเทศมากขึ้น ซึ่งร้านยาจะต้องคัดกรองในเรื่องคุณภาพ ทะเบียนยา รวมถึงที่มาของยาว่าบริษัทใดผลิต จากประเทศไหน ทั้งนี้ยานำเข้าเหล่านี้จะมีราคาเท่ากับยาที่ผลิตในประเทศไทยหรืออาจถูกกว่า เพราะจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า มีเพียงแค่ค่าขนส่งเท่านั้น ขณะที่การผลิตยาในประเทศการนำเข้าวัตถุดิบและสารที่สำคัญทางยายังต้องเสียภาษี 2-5% ดังนั้นร้านยาจะมีรายการยาให้เลือกมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาเลือกทั้งจากคุณภาพและราคา
นอกจากนี้อาจมีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดร้านยาแข่งกับร้านยาไทยมากขึ้น ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ลาว มาเลเซีย อินเดีย และ จีน ซึ่งการเปิดให้ชาวต่างชาติลงทุนร้านยาในไทยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อม แม้ว่าตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้เพียง 49% แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีผู้ถือหุ้นแทน สามารถควบคุมกิจการได้ ดังนั้นจำเป็นที่ร้านยาต้องมีการปรับตัวโดยเร็ว ไม่เพียงแต่แข่งขันกับการลงทุนจากต่างชาติเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับบริษัทยาที่เปิดร้านยาในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ทำกลยุทธ์ตลาด อย่างไรก็ตามหลังเปิดอาเซียนปี 2558 ในปี 2563 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของร้านยาในประเทศมากขึ้น เชื่อว่าจะมีการลงทุนเปิดร้านยาทั้งจากเกาหลี จีน และ อินเดีย
"พอเปิดเสรีการค้าแล้ว กำแพงภาษีจะถูกลดลง ส่งผลให้ผู้ส่งออกยาในต่างประเทศจากที่เคยทำ แต่ส่งออกจะหันมารุกเพื่อเปิดร้านยาในไทยแทน เพราะมองว่าคุ้มค่าและกำไรมากกว่า" กรรมการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว
ร้านยา 8 พันแห่งร่วมกันปรับตัว
นายวิชัย อรุณรักษ์รัตนะ ประธานชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรับมือต่อการเปิดเออีซีร้านยาคงต้องมีการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจการแข่งขัน เพราะไม่เช่นนั้นคงสู้ไม่ได้ ทั้งการพัฒนาร้านยาให้ได้มาตรฐาน การบริหารรวมจัดซื้อยาเพื่อให้ได้ยาราคาถูกเทียบเท่ากับร้านใหญ่เพื่อลดต้นทุน ซึ่งส่วนใหญ่เราเป็นร้านยาเดี่ยว มีสมาชิกที่เป็นร้านยาแฟรนไชส์อยู่บ้างแต่ไม่มาก ขณะนี้มีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 6,000 แห่ง จากจำนวนร้านยาราว 8,000 แห่งทั่วประเทศ
"ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดเออีซีแล้ว แต่ร้านยาส่วนใหญ่ยังไม่ทราบและไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้อยากให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ร้านยารับทราบ เพราะไม่เช่นนั้นร้านยาที่เป็นของคนไทย ในที่สุดก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับกรณีร้านชำราย ร้านค้าปลีกรายย่อยที่ค่อยๆ ปิดกิจการไป เนื่องจากสู้ค้าปลีกข้ามชาติไม่ได้" ประธานชมรมร้านยาแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า ส่วนที่ร้านขายยาของไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากเออีซีนั้น ยังมองไม่เห็น เพราะเราคงยังไม่มีศักยภาพที่จะไปลงทุนเปิดร้านยาในต่างประเทศได้
ไบโอฟาร์มปรับตัวรับเออีซี
ขณะที่ นายวีระพัฒน์ ถกลศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทยาสามัญในประเทศไทยคงต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือเออีซีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทไบโอฟาร์มฯ ได้มีการปรับตัวเพื่อแข่งขัน โดยได้มีการพัฒนาผลิตยาจนได้มาตรฐานอียู จีเอ็มพี (พีไอซี/เอส) 3 ปีแล้ว ที่เป็นมาตรฐานการผลิตยายอมรับทั่วโลก โดยเป็นบริษัทแห่งเดียวในประเทศไทย ทำให้การส่งออกไปไม่เป็นปัญหา ที่ผ่านมาเรามีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 20 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ศรีลังกา เป็นต้น และในอนาคตจะส่งออกไปเวียนนาม พม่าและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม ทั้งนี้ยอมรับว่าการเปิดเออีซีทำให้ตลาดยาเติบโตขึ้น ที่ผ่านมาเราจึงมีการหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติมเพื่อส่งออก นอกจากนี้ยังได้รับการติดต่อจากบริษัทข้ามชาติเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทเราเป็นฐานการผลิตยาส่งออกในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ในปี 2556 บริษัทยังได้เตรียมลงทุนขยายโรงงานผลิตยา 400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการผลิตยา
"ในการรับมือการเปิดเสรีการค้า รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนบริษัทผลิตยาประเทศไทยในการยกระดับมาตรการผลิตให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (พีไอซี/เอส) เพื่อให้บริษัทผลิตยาเหล่านี้อยู่รอดและสามารถส่งออกเพื่อแข่งขันได้ เพราะไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจำนวนโรงงานยาในประเทศไทยจะลดลงหากมีการเข้มงวดมาตรฐานจีเอ็มพี (พีไอซี/เอส) ส่วนยานำเข้าที่มีการปรับลดภาษีนั้น รัฐบาลคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันทางการค้า และมองว่าไม่น่ามีปัญหาจนส่งผลกระทบการแข่งขัน" กรรมการผู้จัดการบริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละบริษัทยาที่จะปรับตัวเพื่อแข่งขัน ซึ่งวันนี้ตลาดยาในประเทศไทยโตเพียงแค่ปีละ 7% แต่การเปิดเออีซีจะทำให้ตลาดยาเราโตขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีประชากรเพียงแค่ 70 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 500 ล้านคน และหากเพิ่มประเทศจีนและอินเดียจะทำให้ขยายไปถึง 3,000 ล้านคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555
- 14 views