รพ.เอกชน เสนอรัฐหนุนเอกชนเดินหน้า"เมดิคัล ฮับ" ก่อนเสียแชมป์เร่งทำการตลาดสู้ประเทศคู่แข่งดึงรายได้เข้าประเทศเพิ่ม ขอเปิดโรงเรียนแพทย์-พยาบาลป้อนเอกชนแก้ปัญหากำลังคนขาด เสนอรุกเปิดขายประกันรักษาพยาบาลในไทยล่วงหน้าผ่านออนไลน์ ขณะที่ "รมว.สธ." ยัน ภาคเอกชนไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นตัวหลักขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริมและเตรียมเดินหน้าโปรโมท เมดิคัล ฮับ ไทย เริ่มปีหน้านี้
ในการประชุมเรื่อง "นโยบายรัฐบาลด้าน เมดิคัล ฮับ" จัดโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อเปิดรับความเห็นและข้อเสนอจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันนโยบายเมดิคัล ฮับ อย่างเป็นรูปธรรม ครั้งแรก โดยมีผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนกว่า 30 แห่งเข้าร่วม
นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นเมดิคัล ฮับของโลก ไม่ได้เฉพาะภูมิภาคเอเชีย แต่ปัญหาคือมักมีการโจมตีภาคเอกชนและกล่าวหาบิดเบือน อาทิ การดูแลผู้ป่วยต่างชาติใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก มีการให้ตัวเลขดูแลผู้ป่วยต่าง 1 ล้านคน ต้องใช้หมอถึง 17,000 คน ซึ่งไม่จริง เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลเรามีหมอประจำไม่ถึง 200 คน แต่ดูแลผู้ป่วย 1 ล้านคน อีกทั้งประเทศไทยมีหมอจำนวนราว 30,000 คนเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ รวมถึงกรณีที่บอกว่าเราแย่งบุคลากรภาครัฐ เพราะหมอที่เรารับมา 60% เป็นหมอไทยกลับจากสหรัฐ แต่สิ่งที่ประเทศไทยได้รับจาก เมดิคัล ฮับ คือการนำรายได้เข้าประเทศกว่า 120,000 ล้านบาทต่อปี จึงอยากให้แก้ไขข้อมูลที่บิดเบือนเหล่านี้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนยังถูกกีดกันเยอะมากอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้เอกชนเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศ อย่างเช่น การนำเข้ายาที่ผ่านมาตรฐานเอฟดีเอ สหรัฐ แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราทำไม่ได้ ต่างจากสิงคโปร์ ทำให้การแข่งขันของไทยแย่งลง เพราะหากผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ต้องบินไปสิงคโปร์แทน ดังนั้นหากต้องการให้ไทยแข่งขันในเวที เมดิคัล ฮับ ได้ ต้องแก้ไขข้อจำกัดนี้ รวมถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากร
"ตอนนี้ เมดิคัล ฮับ เราเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว แต่หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ไม่แน่ใจว่าไทยจะยืนจุดนี้ได้นานแค่ไหน ภาครัฐจึงต้องสนับสนุน รวมไปถึงการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนระบบเอกชน ซึ่งปัจจุบันเอกชนมีแพทย์และบุคลากรในระบบที่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ หากรัฐบาลไม่เปิดในจุดนี้ การที่ไทยจะยืนตำแหน่งนี้ต่อไปคงยาก" ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ขอรัฐแก้ปัญหาขาดแพทย์
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากขณะนี้คือกำลังคนไม่พอ โรงพยาบาลเอกชนมีคนไม่พอในการบริการ แต่กลับไม่สามารถผลิตเองได้ และเราต้องยอมรับว่า ในวงจรวิชาชีพทางการแพทย์ ระยะเวลาคนทำงานอยู่ในระบบนั้นสั้นมาก อย่างพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ได้เพียง 4-5 ปี ทำให้แต่ละปีแม้ว่าจะมีการผลิตพยาบาลจำนวนมาก แต่ก็ไม่เพียงพอ โดยในระบบปัจจุบันมีพยาบาลเพียงแค่กว่าแสนคนเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจและต้องเสริมกำลังการผลิตทดแทนให้มากขึ้น โดยขยายการผลิตให้เอกชนเข้าร่วม ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตพยาบาลอยู่ที่อาจารย์ 1 ต่อนักเรียน 8 คน หากขยายเป็นอาจารย์พยาบาล 1 ต่อนักเรียน 12 คนได้ ก็จะทำให้การผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.สมเกียรติ เชื้อเพชระโสภณ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า เมดิคัล ฮับ เป็นนโยบายที่ใช้คนน้อย โดยใช้บุคลากรเพียงแต่ 0.5 คน ในระบบ แต่กลับสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ราว 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับไม่มีการทำการตลาด สร้างภาพลักษณ์ให้กับบริการเมดิคัล ฮับ ของไทย แต่กลับปล่อยให้เป็นไปธรรมชาติ ให้เอกชนดำเนินการกันเอง ต่างจากประเทศคู่แข่งที่ใช้เงินประชาสัมพันธ์ทำการตลาด 200-300 ล้านบาท เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ ส่วนปัญหาการเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรในภาคเอกชน มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่ขึ้นอยู่ที่แพทยสภาที่ไม่อนุมัติหลักสูตรให้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรผลักดันเพื่อให้เอกชนสามารถเป็นโรงเรียนแพทย์ได้ รวมไปถึงการเปิดให้เอกชนสามารถทำวิจัยได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนไทยมีศักยภาพเพียงพอ
เสนอขายประกันผ่านออนไลน์
นอกจากนี้ มองว่ารัฐบาลเองควรสนับสนุนการขายประกันการรักษาพยาบาลในไทยทางออนไลน์ โดยเป็นการขายไปทั่วโลก ซึ่งไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนแล้วค่อยมา เพราะไม่ว่าอย่างไรการจ่ายเบี้ยประกันเพื่อรักษาพยาบาลในไทยก็ถูกกว่าต่างประเทศแน่นอน ดังนั้นจึงควรผลักดันให้บริษัทประกันขายประกันนี้ไปทั่วโลก ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น
นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เมดิคัล ฮับ พูดกันมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงขณะนี้ดูแล้วว่ายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาล 2 กลุ่ม คือ โรงพยาบาลภาครัฐมี 900 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 300 แห่ง ในจำนวนนี้มีแค่ 30 แห่งที่รับผู้ต่างชาติ และที่ผ่านมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ทำได้ดี แต่เชื่อว่าในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งอยากบริการต่างชาติเช่นกัน แต่คงทำได้อยากเพราะศักยภาพและกำไรไม่เทียบเท่า ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาผลักดัน ทั้งนี้ไม่เชื่อว่ามีเมดิคัล ฮับจะทำให้คนไทยเสียหาย เพราะรัฐมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการดูแล และหากรัฐบาลต้องการให้เอกชนสร้างรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลเองต้องใส่ใจและผลักดัน ในการประชุมทางผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนยังมีการนำเสนอประเด็นหลากหลายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาทิ การเสนอขอให้แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค การเปิดช่องให้มีการนำเข้าแพทย์จากต่างประเทศได้ รวมทั้งขอให้มีการเจรจานโยบายเมดิคัล ฮับ ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อเปิดทางให้กับเอกชน เป็นต้น
หมอประดิษฐรับข้อเสนอ รพ.เอกชน
ด้าน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองภาคเอกชนเป็นศัตรู แต่พร้อมจะส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ ในการประชุมครั้งนี้จึงอยากฟังว่ามีส่วนใดที่สามารถทำได้บ้าง เพราะการทำ เมดิคัล ฮับ ภาคเอกชนถือเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ไม่ใช่ภาครัฐ จึงอยากให้ช่วยกันบอกปัญหาและข้อจำกัด เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมดิคัล ฮับ ต่อไป ส่วนข้อเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการดำเนินการของเอกชนและการตลาด นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการทำแผนโมเดิรน์ไทยแลนด์ ซึ่งในส่วนเมดิคัล ฮับ ได้มอบกรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ (สบส.) จะตั้งงบประมาณสนับสนุนเพื่อประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างไร แต่คงไม่ลงลึกว่าเป็นโรงพยาบาลใด คาดว่าวันที่ 1 มกราคม ปีหน้าคงได้เห็น ส่วนงบประมาณขณะนี้ยังไม่ทราบ เพราะต้องมีการประเมินมาก่อน ถ้าคงต้องเป็นหลักสิบหรือหลักร้อยล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ประเทศไทยด้านความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ ส่วนข้อเสนอเปิดโรงเรียนแพทย์ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน ซึ่งคงต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้นก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555
- 54 views