เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ นพ.ประสิทธิ์ ชัยรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทย (T-BAN) ว่า จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 เรื่องการยกเลิกใช้แร่ใยหินนั้น รัฐบาลได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เครือข่าย T-BAN และภาคเอกชน ฯลฯ เพื่อวางแผนหยุดการใช้แร่ใยหิน ซึ่งได้รายงานกลับไปยังนายกฯ แล้วว่า สมควรที่จะดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินตามมติ ครม.ได้ในปีนี้
"เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีจะสามารถยกเลิกได้ทั้งหมด เพราะต่างประเทศมีการยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นจำนวนมากแล้ว แม้แต่ประเทศผู้ผลิตแร่ใยหินอย่างแคนาดาก็ยกเลิกการใช้แล้วเช่นกัน ผู้ประกอบการที่ผลิตวัสดุจากแร่ใยหินจะไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปขายได้ สุดท้ายก็ต้องเลิกการใช้แร่ใยหินไปโดยปริยาย แต่เป็นไปในลักษณะของการค่อยๆ ลดการนำเข้าลง" นพ.ประสิทธิ์กล่าว
นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการลดการนำเข้าแร่ใยหินคงต้องรอให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำเป็นระเบียบออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร เพราะยังเขียนแผนงานออกมาไม่ชัดเจน และยังไม่มีการพูดคุยกัน ขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่มีการเร่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้รีบดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หากการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินเป็นความจริงจะไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะบริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากการนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งจากสถิติการนำเข้าพบว่า ในปี 2553 มีการนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 70,000 ตัน ปี 2554 นำเข้าประมาณ 81,000 ตัน ส่วนปีนี้ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่มีสิทธิ์ที่จะสูงถึงกว่าแสนตัน
ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการประชุมหารือระหว่างเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมไม่สามารถมีมติร่วมกันได้ โดยกระทรวงทำได้เพียงรับปากว่าจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง แต่ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีการเสนอเมื่อใด ทำให้ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด พบว่าภาคเอกชนที่เข้าร่วมให้ข้อมูลยืนยันว่า การเปลี่ยนการผลิตโดยใช้สารทดแทนแร่ใยหิน โดยเฉพาะการผลิตกระเบื้อง สามารถทำได้ทันทีภายใน 6 เดือน ซึ่งสารทดแทนไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่มีการอ้างถึง อีกทั้งยังมีความแข็งแรงคงทน ไม่ต่างจากแร่ใยหินเลย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำแผนปฏิบัติการยกเลิกแร่ใยหิน แต่กลับมีการชะลอการยกเลิก เนื่องจากเป็นห่วงผู้ประกอบการที่นำเข้าแร่ใยหินและเกรงจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนมองว่าเป็นการสวนกระแสความจริง สวนกระแสสังคม และสวนทางกับมติ ครม. ตรงนี้ต้องเร่งให้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยต้องอาศัยพลังในการดำเนินการ 3 พลัง เพื่อให้การยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินเป็นความจริง ได้แก่ 1.พลังความผูกพันของแต่ละหน่วยงานที่ต้องการเห็นประชาชนมีสุขภาวะที่ดี 2.พลังปัญญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.พลังทางการเมือง ในการออกเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555
- 4 views