สธ.ห่วงฐานะการเงินโรงพยาบาลปี56 หลังสารพัดปัญหารุมเร้าทั้งขึ้นเงินเดือน1.5หมื่น- คุมค่าใช้จ่ายรายหัวบัตรทอง3ปี ขณะที่ค่าตอบแทนพุ่งฉุดเงินบำรุงรพ.ลดฮวบเหลือแค่ 9 พันล้านบาท ด้าน"ผอ.รพ.จะนะ" ชี้ขาดทุน 4 ล้านบาท เชื่อปี 56 ขาดทุนเพิ่ม แนะรัฐควรเพิ่มงบประมาณ
สถานะทางการเงินโรงพยาบาลของรัฐส่อวิกฤติมากขึ้น จากนโยบายคุมค่าเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพให้คงที3 ปี รวมไปถึงปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งผลให้เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลงจนน่าเป็นห่วง
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบำรุง โรงพยาบาลขณะนี้แย่ลงกว่าปี54 แม้ในช่วงปลายปีเริ่มดีขึ้นเนื่องมีการโอนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 50% จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนเริ่มโงหัวขึ้นได้ แต่ครึ่งปีหลังงบประมาณปี55เงินงบประมาณรายไตรมาสลดลง ส่งผลให้ประสบปัญหาการเงินเช่นเดิม ประกอบกับการปรับคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาดีอาร์จีเวอร์ชั่น 5 ทำให้ส่งผลกระทบมากขึ้นรวมถึงยังแบกรับภาระค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราว "โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลเท่าที่ทราบ สถานการณ์เงินย่ำแย่ติดลบ ไม่แต่เฉพาะ โรงพยาบาลอำเภอเท่านั้นและปี54 โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 91 แห่งทั่วประเทศ มี 25 แห่ง ที่คงสภาพคล่อง แต่ปลายปีกลับลดเหลือเพียง 19 แห่ง คิดดูว่ามีโรงพยาบาลที่มีสภาพการเงินรอดเพียงแค่ 19 แห่ง จาก 91 แห่งเท่านั้น ส่วนโรงพยาบาลอำเภอไม่ต้องพูดถึง "
เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลง
ปัญหาไม่ได้มาจากการคงงบเหมาจ่ายรายหัวอย่างเดียวหากรวมถึงการปรับเปลี่ยนจ่ายเงินของ สปสช. โดยเฉพาะดีอาร์จีเวอร์ชั่น 5ควบคุมค่าใช้จ่ายลงไปจำนวนมากแต่ล่าสุดได้มีการแก้ไขเป็นดีอาร์จีเวอร์ชั่น 5.1 แล้ว หวังว่าน่าจะดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการเรียกร้องบรรจุข้าราชการของเครือข่ายพยาบาล วิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว เกิดจากผลกระทบปัญหาเงินบำรุงโรงพยาบาลที่ลดลง มีการลดค่าตอบแทน เงินโอที ทำให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้เกิดความไม่มั่นใจในหน้าที่การงาน
ด้านนพ.ประเสริฐ ขันเงิน ประธานชมรม โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่องบประมาณโรงพยาบาล คือ 1.นโยบายรัฐบาลที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งเพิ่มค่าแรง 300 บาท เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท 2.การควบคุมเบิกจ่ายค่ารักษาข้าราชการของกรมบัญชีกลาง และการปรับการเบิกจ่ายผู้ป่วยในเป็นดีอาร์จีเวอร์ชั่น 5 ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายค่ารักษาลดลงจากเดิม 10-15% และ 3.การคงงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3 ปี อัตรา 2,755.60 บาทต่อคนต่อปี "ขณะนี้สภาพเงินบำรุงของโรงพยาบาลคล้ายๆ กัน ซึ่งโรงพยาบาลพระพุทธชินราชแม้ว่าจะมีเงินบำรุงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็มีหนี้คงค้างรอการจ่าย เช่น ค่ายา เวชภัณฑ์ " นพ.ประเสริฐ
ด้าน นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การเงินการคลังโรงพยาบาลขณะนี้ยังพออยู่ได้ แต่ยอมรับว่าภาพรวมรายได้ลดลง รวมไปถึงเงินบำรุงในบัญชี เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ประกอบการการคงงบอัตราเหมาจ่ายปี 2556 เช่นเดียวกับปี 2555 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่ปรับตัวเพิ่ม เท่ากับงบที่ได้นี้ลดลง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือโรงพยาบาลคงต้องปรับตัวเองในการบริหาร ทั้งการลดรายจ่ายต่างๆ ที่กำลังทำอยู่ การปรับปรุงประสิทธิภาพจัดซื้อจัดจ้าง
รพ.จะนะขาดทุน4ล้านาท
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เงินบำรุงโรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลงชัดเจน โดยปีงบประมาณ 2555 โรงพยาบาลจะนะ มีรายรับอยู่ที่ 66 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 70 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนที่ขาดทุน โรงพยาบาลต้องนำเงินเก่าเก็บที่เป็นเงินบำรุงออกมาชดเชยส่วนเงินที่ขาด รวมถึงใช้วิธีการชะลอจ่ายหนี้ โดยเฉพาะในส่วนของค่ายา เพราะในฐานะโรงพยาบาลรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดังนั้นจึงสามารถชะลอการจ่ายค่ายาไปได้ และรอจนกว่าเงินงบประมาณจะโอนถ่ายลงมาจึงนำไปจ่ายหนี้ได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้โอนงบประมาณไตรมาสแรกลงมาแล้ว แต่ปัญหาคือการประกาศคงงบประมาณ 3 ปี ที่สวนทางกับค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ เงินเดือน ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เพราะแม้จะไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท รวมถึงการขึ้นเงินเดือน 15,000 บาท แต่ละปีเงินเดือนข้าราชการก็ต้องปรับขึ้นปีละ 6% อยู่แล้ว ยังไม่รวมปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนที่ยังคั่งค้างที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหากระทรวงสาธารณสุข โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ก็เข้าเนื้อโรงพยาบาลอยู่ดี ดังนั้นในปี 2556 เชื่อว่าแนวโน้มการขาดทุนของโรงพยาบาลคงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
"สิ่งที่ทำได้คือความพยายามในการประหยัด ตัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นรายจ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย อาทิ การอบรมพัฒนาบุคลากร การงดการประชุม รวมไปถึงการชะลอการพัฒนาโรงพยาบาลลง "
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ควรมีการเพิ่มงบประมาณให้กับโรงพยาบาล รัฐบาลไม่ควรที่จะคงอัตรางบรายหัว 3 ปี เพราะจะทำให้โรงพยาบาลได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่ง ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปมีผลกระทบน้อยกว่า เพราะมีรายได้จากทางอื่นๆ อย่าง ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น
รพ.ขาดทุนหนัก496แห่ง
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 ซึ่งได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา สรุปว่า จากการบริหารงานโรงพยาบาลตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าภาพรวมผลประกอบการล่าสุด จากการรายงานผลประกอบการของโรงพยาบาล 832 แห่ง จากโรงพยาบาลทั้งหมด 841 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ได้กำไร 336 แห่ง ภาพรวมผลกำไร 5,238 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลขาดทุนมีจำนวน 496 แห่ง รวมเป็นเงิน 4,505 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน 464 แห่ง ขาดทุน 3,135 ล้านบาท โรงพยาบาลทั่วไป 22 แห่ง ขาดทุน 672 ล้านบาท โรงพยาบาลศูนย์ 9 แห่ง ขาดทุน 696 ล้านบาท และศูนย์แพทย์ชุมชน 1 แห่ง ขาดทุน 1,246 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาภาวการณ์ขาดทุนโดยแบ่งเป็นระดับวิกฤตของการขาดทุนเป็น 7 ระดับ พบว่า มีโรงพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤติสูงสุด คือระดับที่ 7 ถึง 175 แห่ง
เงินบำรุงโรงพยาบาลเหลือ9พันล้าน
จากแนวโน้มผลประกอบการข้างต้น ในแนวทางการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับการเร่งจัดสรรเงินที่ยังคงค้างในกองทุน ต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพยุงฐานะทางการเงินของโรงพยาบาลได้คือ ทุนสำรองสุทธิที่นำมาชดเชยให้โรงพยาบาลที่ขาดทุนได้ โดยพบว่าทุนสำรองสุทธิ ณ ไตรมาส 3 มีทั้งสิ้น 30,585 ล้านบาท แต่พบว่ามีโรงพยาบาลที่มีทุนสำรองสุทธิติดลบอยู่ถึง 211 แห่ง หรือ 1 ใน 4 ของโรงพยาบาลทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่ามี โรงพยาบาลจำนวนหนึ่งที่อยู่ในภาวะขาดทุนแล้วและไม่มีทุน สำรองประคอง ด้านสถานะเงินบำรุงซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ฐานะการเงินของโรงพยาบาล ยังพบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยตรงมาส 3 ในปี 2555 นี้ มีเงินบำรุงสุทธิหลังหักหนี้และภาระผูกพันเหลือเพียง 9,441 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงติดลบอยู่ถึง 385 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด
วิกฤติการเงินซ้ำรอยปี55
จากสถานการณ์การเงินเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 ชี้ให้เห็นว่าฐานะการเงินของหน่วยบริการที่มีแนวโน้มไปสู่ปัญหาวิกฤตการเงินอีกครั้งอย่างในปี 2553 ที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริการยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลักเกณฑ์การจัดสรรและกรอบการเบิกจ่ายเงินของทุกกองทุนเริ่มมีการ จำกัดมากขึ้น คาดว่าสิ้นปี 2555 จะมีโรงพยาบาลขาดทุนถึงร้อยละ 70 โดยในส่วนโรงพยาบาลที่ประสบภาวะวิกฤตการเงินถึงในระดับรุนแรงมากขึ้นในปี56
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555
- 16 views