ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ทั้ง ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" โดยเฉพาะการควบคุมงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ครอบคลุมประชากรกว่า 48 ล้านคน ให้คงอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว 2,755.60 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี งบประมาณ คือปี 2555-2557 นั้น "ชะตากรรมคนไทย หลังคุมค่าใช้จ่าย 30 บาท 3 ปี" จะเป็นอย่างไร
นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาบอกว่า การคงอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิมในขณะที่เงินเดือนก็ขึ้น โรงพยาบาลต้องจ้างคนเพิ่มและจ่ายเงินในส่วนนี้เอง ยังไงอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวต้องได้เพิ่มขึ้น เดิมโรงพยาบาลมีรายได้จากระบบสวัสดิการข้าราชการมาชดเชย พอไปคุมค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการไม่ให้เบิกโน่น เบิกนี่ มีการตรวจสอบค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลลดลงจนเกิดปัญหา พอเงินไม่มีผู้ป่วยก็แย่ ทุกอย่างเลวลงเพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อโน่นซื้อนี่ หรือทำโน่นทำนี่ สรุปคือ ถ้าคงอัตราเหมาจ่ายรายหัวแล้วโรงพยาบาลอยู่ไม่ได้ ผู้เจ็บป่วยก็แย่ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า โรงพยาบาลประสบภาวะขาดทุนหลายร้อยแห่ง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวว่า แม้อัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2557 ยังไม่ตั้งงบประมาณ แต่มีแนวคิดของคนที่เป็นมือการเงินของรัฐบาลที่จะคุมเรื่องนี้ เพราะอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวโตขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จาก 1,202 บาทเป็น 2,755.60 บาทในปี 2555 และปี 2556 แต่ปีงบประมาณ 2557 ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งรัฐบาลอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
ชะตากรรมคนไทย หลังคุมค่าใช้จ่าย 30 บาท ถ้าโรงพยาบาลแย่ ขาดทุน รัฐบาลอาจจะไม่คุมอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวก็ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลคุมสวัสดิการข้าราชการซึ่งเป็นตัวช่วยของ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เงินไม่เคยพอตั้งแต่แรกแล้ว พอตัวช่วยถูกคุมย่อมส่งผลกระทบต่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อ ค่ายา ค่าแรง เงินเดือน แต่รายรับไม่เพิ่มแล้วมันจะไปเหลืออะไร
โรงพยาบาลก็ต้องรัดเข็มขัด เพราะถูกเพ่งเล็งการบริหารงานหากขาดทุนแสดงว่าบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลก็พยายามทำให้ตัวเองอยู่รอด งานอะไรที่ไม่ได้ตอบกลับมาเป็นเงิน ไม่สร้างรายได้ก็ไม่ทำ ลดค่าใช้จ่าย ไม่จ้างคน นอกจากจำเป็นจริง ๆ จากที่เคยมียาดี ๆ ก็ต้องลดลง เอาเฉพาะยาที่จำเป็น เครื่องมือทางการแพทย์อายุประมาณ 5 ปี ซ่อมก็ไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ทางออก คือ ต้องมีการบริหารจัดการ ถ้างบประมาณมีปัญหาก็ต้องเติมลงไป หรือขอใช้งบกลาง งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทของที่อื่นอาจแค่เศษเงิน แต่สำหรับกระทรวงสาธารณสุขถือว่าเยอะ มันมีความหมายมาก ดังนั้นถ้ายังคงแช่แข็งคุมค่าใช้จ่าย 30 บาทจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการอย่างแน่นอน
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า การคุมค่าใช้จ่ายมิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก มันเคยเกิดขึ้นแล้วตอนเริ่มโครงการนี้ใหม่ ๆ ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลอยากได้หน้าแต่ขี้เหนียว มีนโยบายออกมาเยอะแยะว่าจะพัฒนาอะไรต่าง ๆ แต่ขี้เหนียวเงิน เคยถาม รมว.สาธารณสุขในบอร์ด สปสช.ว่ามีนโยบายคุมค่าใช้จ่าย 3 ปีจริงหรือไม่ ทาง รมว.สาธารณสุข ก็บอกว่าเปล่าไม่ได้คุมแต่เขาจะบริหารจัดการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ถามว่าแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร กรณีที่ผู้ให้บริการ คือโรงพยาบาล ออกมาโวยวายว่าได้รับผลกระทบ ความจริงแล้วเขาก็ได้เงินเดือนตามปกติ พอมีงบประมาณจำกัด ก็ต้องประหยัดเพื่อให้องค์กรเขาอยู่ได้ แต่สุดท้ายคนที่ได้รับผล กระทบจริง ๆ ก็คือประชาชน เมื่องบประมาณน้อยลงก็ต้องกินยาน้อยลง คุณภาพยาต่ำลงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
วันนี้ยาราคาสูงขึ้น ค่าแรงปรับขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหมด พอบอกว่าจะพัฒนาคุณภาพการบริการแต่เงินไม่เพิ่มมันก็ไปคนละทาง ทั้งนี้ไม่ได้สนับสนุนว่าต้องเอาเงินมาให้เยอะ ๆ แต่สนับสนุนให้มีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ว่าขี้เหนียวอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าขี้เหนียวแล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้รับบริการคือประชาชนกว่า 48 ล้านคน
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 4 views