จดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่าง ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ชะลอการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จนกว่าจะมีการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างชัดเจน ครอบคลุม และกว้างขวางเพียงพอ และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งหารือประชาชนอย่างเร่งด่วน เพราะทั้งหมดนี้ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จริงอยู่ที่ประเทศไทยไม่ควรหยุดนิ่งในการพัฒนาการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นนี้ไม่สามารถดำเนินการอย่างผลีผลามได้ หากคำนึงเพียงแค่วาทกรรมเรื่องการตกขบวนการค้า อาจส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสวัสดิการของประชาชนและต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยได้
พวกเรา ภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเร่งด่วนของรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (TIFA JC) โดยนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมีถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.นั้น
คณะรัฐมนตรีรวบรัดออกมติดังกล่าว ทั้งที่เป็นมติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแต่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องไม่มีส่วนในการให้ความเห็นที่รอบด้านแก่คณะรัฐมนตรีแม้แต่น้อย
แม้การแถลงข่าวร่วมของฯพณฯนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แต่การประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) นั้นมีผลผูกมัดทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงควรเกิดจากการพิจารณาและหารือที่ถ้วนถี่ และยืนอยู่บนความรู้ความเข้าใจที่มากพอถึงผลดี-ผลเสียต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นความตกลงที่สหรัฐฯมีท่าทีที่ชัดเจนในการบรรจุความต้องการและผลประโยชน์ที่เป็นของบรรษัทข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในการเจรจาระหว่างประเทศอื่นๆโดยเฉพาะในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านต่างๆ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
1.การเข้าถึงยาและสาธารณสุขของประเทศ ผ่านการเพิ่มระบบการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การขยายอายุสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, การจำกัดการใช้กลไกยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์, ทำให้กระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยาอ่อนแอ การให้สิทธิบัตรแก่การผ่าตัดและวินิจฉัยโรค และจำกัดอำนาจต่อรองและควบคุมราคายาของระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของรัฐบาล
2.การอนุญาตให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพและบังคับให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
3.เปิดเสรีบริการทางการเงินอย่างกว้างขวางให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 100% และจำกัดสิทธิในการกำกับดูแล โดยเฉพาะมาตรานโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
4.การคุ้มครองการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเพื่อยกเลิกนโยบายสาธารณะและเรียกค่าชดเชยจากรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ นั่นจะยิ่งจำกัดพื้นที่ในการดำเนินนโยบายเพื่อสาธารณะของรัฐบาล
นอกจากนี้ ระบบการเจรจาของ TPP นั้น ประเทศที่แสดงเจตจำนงเข้าไปร่วมเจรจาทีหลัง จะต้องเจรจากับประเทศที่เจรจาอยู่ก่อนให้ยอมรับ ฉะนั้นผลกระทบจากการเจรจาจะพิจารณาจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในปัจจุบันไม่ได้ เพราะอาจจะมีข้อเรียกร้องจากประเทศต่างๆผนวกเพิ่มเข้ามา
ขอแสดงความนับถือ
(ภญ. สำลี ใจดี)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
ชมรมเพื่อนโรคไต
เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิเภสัชชนบท
กลุ่มศึกษาปัญหายา
มูลนิธิชีววิถี
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
มูลนิธิสุขภาพไทย
- 4 views