หมอประดิษฐ นำ 6 แนวทาง บริหารจัดการโครงการ 30 บาท ยุคใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพบริการ สภาพการเงินโรงพยาบาลคล่องตัว เผยจะนำระบบเอ็กซเรย์ ดิจิตอลมาใช้นำร่องปีหน้า ลดเวลาให้แพทย์ ประหยัดงบซื้อฟิล์มเอ็กซเรย์ ดึงภาคเอกชนร่วมจัดบริการ เช่นหน่วยไต
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางการบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า การเริ่มโครงการ 30 บาทที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นปีละแสนล้านบาท อาจถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มาก ค่าใช้จ่ายสุขภาพมีสัดส่วนประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่อย่างไรก็ตามในการควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ลดคุณภาพการดูแลสุขภาพประชาชน แต่จะบริหารเรื่องการลงทุนให้คุ้มค่า จากการประเมินการใช้บริการของประชาชนที่อยู่ในโครงการ 30 บาท ที่มีจำนวน 48.5 ล้านคน พบว่ามีผู้เข้าใช้บริการปีละ 32.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้บริการเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 31 ล้านคน และใช้บริการมากกว่า 1 ครั้ง มีประมาณ 1 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง จึงต้องมีการ ปรับแนวคิดและปรับขบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยในปี 2556 -2558 รัฐบาลจัดสรรงบรายหัวโครงการ 30 บาทในอัตราคงที่ 2,755.60 บาท ต่อหัวต่อปี ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการให้เต็มที่แล้ว หากเหลือจ่ายก็สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นๆได้ หากไม่พอ รัฐก็จะสามารถจัดสรรส่วนที่ขาดได้อย่างถูกต้อง โดยมี 6 แนวทางดังนี้
1.การอภิบาลระบบงาน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน กำหนดบทบาทแยกกันชัดเจน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้กำหนดหลักเกณฑ์ มีการซื้อบริการระดับเขต 2.การบริหารกำลังคน ให้มีการจ้างงานที่ดีขึ้น ไม่ให้ไหลออกไปสู่ภาคเอกชน มีความสุขในการทำงาน และจัดระบบบริการที่ประหยัดกำลังคน เช่น การรวมศูนย์คลังยา การนำระบบดิจิตอลมาใช้ในห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ลดการใช้คนที่ไม่จำเป็น 3.การสร้างประสิทธิภาพ จะนำการบริการแบบธุรกิจมาลมีสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้องค์การเภสัชกรรมช่วยในการสต็อกยาให้โรงพยาบาลใช้อย่างเพียงพอ โรงพยาบาลไม่ต้องลงทุนเอาเงินไปซื้อยามากเกินไป มีการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกันให้ถึงจุดคุ้มทุน เช่น ใช้ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนได้ และมีแนวความคิดที่จะนำเอกชนมาร่วม ตั้งแต่งานบริการพื้นฐานธรรมดาจนถึงการลงทุนต่างๆ เช่น ใช้คลินิกเอกชนแทนการลงทุนสถานพยาบาลปฐมภูมิ นำเอกชนเข้ามาร่วมในหน่วยล้างไต ประชาชนจ่ายค่าบริการที่ถูกลง พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ได้ค่าแรงมากขึ้น
4 การสร้างเพิ่มรายรับ เช่น จัดระบบบริการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มที่ยังขาดระบบดูแล เช่น จัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับสิทธิเป็นไปตามกฎหมาย อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันควบคุมโรค และแก้ไขปัญหาประชากรจากต่างด้าวด้วย 5.การบริหารการลงทุน เพื่อให้เกิดศูนย์รักษาเชี่ยวชาญ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ และบริการดุจเครือญาติระดับโลก ลงทุนระบบเอ็กซเรย์ดิจิตอล ซึ่งลดค่าใช้จ่ายการซื้อฟิล์มรังสีเดือนละหลายแสนบาท โดยจะทดลองนำใช้ในบางพื้นที่ในปีหน้า เพื่อเป็นต้นแบบ การลงทุนแต่ละเรื่องจะมีผลผลิตปรากฎออกมาอย่างชัดเจน และ 6.การประเมินผล โดยพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพของระบบการดูแลด้านสุขภาพของประเทศเป็นระบบเดียวกันทั้ง 3 กองทุน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทฺธิผลและคุณภาพของงาน โดยทุกภาคส่วนต้องมีตัวชี้วัดเป้าหมายงานทุกกิจกรรมร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งตัวชี้วัดทั่วไป และเฉพาะเรื่อง
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการร่วมอภิปรายประเด็น ค่าเหมาจ่ายรายหัว 2,755 บาทคงที่ 3 ปี ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนการจัดบริการประชาชนเป็นพวงบริการ มีทั้งหมด 12 เครือข่ายให้เหมาะสม ต่อการบริการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบบริหารด้านการเงินการคลังและกำลังคน แต่ละพวงบริการจะครอบคลุมประมาณ 5-6 จังหวัด โดยจะให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน และมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลในพื้นที่ตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าที่สุด ใช้ระบบการจัดสรรเงินรวมระดับเขตและการจัดซื้อยารวม เพื่อประหยัดงบประมาณ
- 1 view