คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เร่งรัฐบาลเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน พบ 10 ปียังไม่คืบ แถมแนวโน้มสูงขึ้นหลังปริมาณรถออกสู่ตลาดจำนวนมาก ด้านโรคติดต่อใหม่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพคนไทยพบเกี่ยวโยงกับสัตว์ถึง 75%
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2555 โดยมีนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ที่ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีระเบียบวาระสำคัญคือติดตามความคืบหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2553 เรื่อง "การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน" และ "โรคติดต่ออุบัติใหม่" ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ในวันที่ 18-20 ธ.ค.ปลายปีนี้
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการอาวุโส และผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า แนวโน้มของอุบัติภัยบนท้องถนนยังสูงขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวและการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์สูงขึ้น รวมถึงนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ที่ทำให้ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวออกสู่ตลาดมากขึ้น
นพ.วิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมาย และรณรงค์ให้การลดอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ ปี 2011-2020 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ปรากฏว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำอย่างเข้มแข็ง ผู้ขับขี่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ขับขี่เร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด , เมาแล้วขับ , ไม่สวมหมวกกันน็อค, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็ก
จากสถิติพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใส่หมวกกันน็อคเพียง 44% และจำนวนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จังหวัดสมุทรปราการและนนทบุรี มีการออกใบสั่งจราจรรถจักรยานยนต์สูงสุดที่นครราชสีมา ภูเก็ต เพชรบุรี และพบการออกใบสั่งน้อยที่สุดคือระยอง อุทัยธานี และสุโขทัย
ส่วนการออกใบสั่งจราจรกรณีเมาแล้วขับสูงสุดที่ จังหวัดขอนแก่น สุรินทร์ และตราด ต่ำสุดที่จังหวัดสตูล อุทัยธานี และระยอง กรณีตรวจจับความเร็วเกินกฎหมายกำหนด สูงสุดที่จังหวัดลำปาง อุบลราชธานี สระบุรี ต่ำสุดที่จังหวัดสตูล น่าน และสุราษฎร์ธานี
"โครงการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการลดอุบัติภัยบนท้องถนนของภาครัฐ ไม่ได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยแต่ละฝ่ายอ้างว่า ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน จึงอยากเสนอให้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างจริงจัง และมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น" นพ.วิทยากล่าว
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังจากที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 ได้มีมติให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ ทางกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นองค์กรหลักในเรื่องนี้ ได้นำมติดังกล่าวไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 28 สิงหาคม 2555 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติต่อไป สำหรับในส่วนของเรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่ตามแผนนี้จะครอบคลุม 3 กลุ่ม คือโรคติดต่ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศ โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ และโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความสะดวกเรื่องการเดินทาง ไม่ว่าจะแพร่กระจายภายในประเทศหรือจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งของโลก โดยโรคที่เกิดขึ้นกว่า 75% มีความสัมพันธ์กับสัตว์ต่างๆ และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่เชื้อไปได้เร็ว และรักษาได้ยากขึ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทั้งกับคน และสัตว์ ทำให้เกิดแนวคิดความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมปศุสัตว์ เมื่อตรวจพบไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนก จะแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขทันที ทำให้การจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ลดความเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจลงได้มาก แนวคิดนี้ถือเป็นต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่ ในไทย
นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า การป้องกันที่ดีที่สุดคือการเฝ้าระวัง โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทุกภาคส่วน วางแนวทางไว้ 5 เสาหลัก 1) เฝ้าระวัง ป้องกันรักษา 2) วางระบบการเลี้ยง และรักษาสุขภาพสัตว์ 3) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาระบบการจัดการความรู้ 4) พัฒนาการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ และเตรียมความพร้อม ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน และ5) การสื่อสารประชาสัมพันธ์
- 2 views