ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ปลัดเทศบาลตำบลบางงา อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และอีกตำแหน่งคือ ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย โดดเด่น ขึ้นมาทันที หลังจากได้รับเลือกให้นั่งเป็นกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) จากนั้นก็เป็นตัวแทน ก.ท.ให้เข้าเป็นกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ กบท.
หลายเวทีมักจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจแบบตรงๆ รวมไปถึงเสนอทางออกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้แหลมคม โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลของคนท้องถิ่นที่ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในหลายหน่วยงาน
ปลัดศักดิพงศ์ บอกว่า ปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนท้องถิ่นเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัจจุบันเมื่อคนท้องถิ่นเจ็บป่วยหรือไม่สบายหากเข้าโรงพยาบาลก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อน บางคนเป็นโรคร้ายต้องสำรอง จ่ายครั้งละหลายแสน บั่นทอนขวัญและกำลังใจคนท้องถิ่นมาตลอด
“ข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางคนก็ได้รับการรังเกียจทั้งจากข้าราชการด้วยกันและฝ่ายการเมือง เพราะมองว่าใช้งบในส่วนของการรักษาพยาบาลไปหมด ฝ่ายการเมืองก็ไม่ปลื้ม เพราะมองว่าเงินในส่วนนี้น่าจะนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรืออื่นๆ ที่จำเป็นมากกว่า แต่ทำอย่างไรได้ คนเราเมื่อไม่สบายแล้วก็ตองดูแลกันเพราะทำงาน ให้ส่วนรวมเหมือนกัน”
ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลฯ ระบุอีกว่า กำลังจะมีการเซ็นเอ็มโอยูกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการค่ารักษา พยาบาลของคนท้องถิ่นโดยเฉพาะ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมืองของกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปทำความ เข้าใจกับเจ้ากระทรวงคนใหม่ ก็ต้องสะดุด และเริ่มกันใหม่ แต่ก็พยายามจะเดินเรื่องให้เร็ว เพราะล่าช้ามานาน
ขณะเดียวกัน “ปลัดศักดิพงศ์” บอก ว่า เมื่อเข้าไปทำงานใน กบท.แล้ว ก็จะผลักดันว่าเงินของกองทุนสามารถนำไปเข้าประกันเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของคนท้องถิ่นได้หรือไม่ เพราะเป็นเงินของพวกเรา โดยมีการหักจาก อบจ.และอบต. ร้อยละ 1 ของงบประมาณประจำปีแต่ละแห่ง ส่วนเทศบาลหักร้อยละ 2 ถือว่าเม็ดเงินจำนวนมาก เป็นหมื่นๆ ล้าน ดังนั้นพอจะมีทางนำเงินดังกล่าวมาค้ำประกันการรักษาพยาบาลของคนท้องถิ่นได้หรือไม่
ศักดิพงศ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมา กบท.เป็น แดนสนธยา ไม่มีใครตรวจสอบ และไม่มีการแจ้งรายละเอียดในการใช้จ่ายเงินให้แก่สมาชิกทราบแต่อย่างใด ดังนั้น กบท. ควรดำเนินการตรงนี้ด้วย เพราะเงินจำนวนมากต้องมีการดำเนินการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
“หลักคิดการนำเงิน กบท.ไปค้ำประกันนั้นคล้ายๆ เป็นการใช้เครดิต ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลไม่เชื่อว่าท้องถิ่นมีเงินจะจ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลได้ จึงมีปัญหามาตลอด หรือหากไม่ใช้วิธีนี้ก็จะขอเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯมาสักก้อน เพราะเป็น เงินตั้งต้นในการจัดตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลของคนท้องถิ่น”
นอกจากนี้ ปลัดศักดิพงศ์ ยังวิจารณ์ การกระจายอำนาจในปัจจุบันว่า ยังไม่มีความชัดเจนหรือคืบหน้าอะไร เพราะร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก็เกินกำหนดมานานแล้ว ส่วนเงินที่โอนมาให้ท้องถิ่นก็มีการยัดไส้มาตลอด เหมือนว่ายอดเงินจะเพิ่มขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ ท้องถิ่นไม่ได้ตามนั้น เป็นตัวเลขหลอกๆ
“ปัจจุบันคนท้องถิ่นต้องวิ่งหางบผ่าน ส.ส.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเงินไม่มี หากไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่มีผลงาน เลือกตั้งครั้งหน้าก็ลำบาก เมื่อมีการวิ่งเต้นงบประมาณ เรื่องเปอร์เซ็นต์ก็จะตามมา หากไม่ทำอย่างนั้นก็จะไม่ได้งบ เพราะท้องถิ่นอื่นก็ต้องการงบเช่นกัน ฉะนั้นเรื่องเปอร์เซ็นต์จึงแก้ไม่ได้สักที”
ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลฯทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรจริงใจในการกระจายอำนาจ และสนับสนุนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อจะเป็นการปฏิรูปท้องถิ่น ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ข้าราชการ ส่วนท้องถิ่นก็ต้องทำงานโดยยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากฝ่ายการเมือง ต้องการทำอะไรแล้วผิดระเบียบก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจกัน เพราะสุดท้ายคนที่จะต้องรับผิดชอบคือข้าราชการ
--สยามธุรกิจฉบับวันที่ 14 - 16 พ.ย. 2555--
- 9 views