หมอประดิษฐ ใช้ 5 ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการพยาบาลภาครัฐของไทย ก้าวสู่ผู้นำอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วาง 5 ยุทธศาสตร์พัฒนาวงการพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556-2558
เพิ่มทักษะภาษา การสื่อสาร หวังก้าวขึ้นการเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน และทำยุทธศาสตร์ 5ปี พัฒนาการพยาบาลระดับประเทศพ.ศ. 2556-2560 ตั้งเป้าคุณภาพบริการเป็นเลิศ ประชาชนปลอดภัยในชีวิต บุคลากรผู้ให้บริการมีความสุข
วันนี้(13 พฤศจิกายน 2555)ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรม “การถ่ายทอดยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ. 2556 – 2560” แก่หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์ สถาบันสังกัดกรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นได้แก่ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงกลาโหม สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 750 คน จัดโดยสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันพยาบาลถือเป็นกำลังหลักในการดูแลสุขภาพประชาชน และขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพต่าง ๆ มีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 92,989 คน ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลขึ้น 2 ระดับ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ 3 ปี เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2556-2558 และระดับประเทศ 5 ปี พ.ศ.2556 – 2560
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน นั้น จัดทำเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสมรรถนะและขีดความสามารถของบุคลากรพยาบาลทุกระดับ ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการ รวมถึงกำลังคนทางการพยาบาลและยกระดับคุณภาพงานบริการพยาบาลของประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การปรับบทบาทและกระบวนทัศน์ในงานบริการพยาบาลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านทัศนคติ ประสบการณ์การทำงาน รวมเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานบริการพยาบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน 2.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรพยาบาลให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น พัฒนาบุคลากรทางการพยาบาลในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับของประเทศให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาล ด้านภาษา และทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย
3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนทางการพยาบาล เช่นความพร้อมด้านกำลังคนทางการพยาบาลให้มีปริมาณ ประสิทธิภาพและคุณภาพ 4.การพัฒนาระบบบริการพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการพยาบาลในสถานการณ์ดังกล่าว และ5.การยกระดับคุณภาพงานบริการพยาบาลสู่ความเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน เช่น ส่งเสริม/สนับสนุนระบบการบริการพยาบาลของประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางด้านคุณภาพบริการพยาบาล (Medical Hub) ในระดับอาเซียน พัฒนาระบบ/กลไก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Health Care Satellite)
ครอบคลุมทุกพื้นที่ พัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพระบบบริการพยาบาลในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของผู้ใช้บริการในภูมิภาคอาเซียน
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ.2556 – 2560 ตั้งเป้าให้บริการพยาบาลมีคุณภาพเป็นเลิศ บุคลากรมีความสุข บนวิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาคุณภาพระบบบริการพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ เช่น พัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพในการจัดระบบบริการพยาบาลที่เป็นเลิศในสถานบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง 2. พัฒนาระบบบริการพยาบาลปฐมภูมิให้มีคุณภาพ โดยมีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการพยาบาล และจัดบริการพยาบาลเชิงรุกเน้นการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพโดยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.พัฒนาระบบบริการพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน / ภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ เพื่อให้สามารถดูแลผู้เจ็บป่วยได้รับความปลอดภัยในชีวิตสูงสุด 4.พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือทางการพยาบาลทุกภาคส่วนในระดับประเทศ ระดับอาเซียน ทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาบริการพยาบาล และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน และ5.เสริมสร้างเอกภาพและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบุคลากรและองค์กรพยาบาล ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
- 6 views