ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ(TIFA JC) โดยนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะมีถ้อยแถลงข่าวร่วม(Joint Press Statement) ในวันอาทิตย์นี้

ประเด็นสำคัญที่ถูกเฝ้าจับตามองมากที่สุดคือ การยอมรับข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลกหรือทริปส์พลัส (TRIPs Plus) ตามที่สหรัฐแสดงเจตจำนงมาตลอด

1.จากการทบทวนวรรณกรรมเรื่องผลกระทบต่อการเข้าถึงยา จากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี หรือ FTA อาเซียน-อียู โดยคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในปี 2555 พบว่าข้อเสนอของอียู คือการให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าข้อตกลงคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (ทริปส์พลัส) ที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีสมาชิก154 ประเทศ ที่กำหนดว่าสิทธิการคุ้มครองมีอายุ 20 ปี

แต่หากไทยทำข้อตกลง FTA กับอียู เท่ากับว่าจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาขยายออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

2.ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยคิดเป็น6.5% ของจีดีพี

ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายยารักษาโรคครึ่งหนึ่ง หรือ 3% ของจีดีพีเนื่องจากมียาที่ผลิตใช้ในประเทศสัดส่วนเพียง 35% ที่เหลือเป็นยานำเข้า

หากยอมรับทริปส์พลัสจะกระทบต่อต้นทุนของสถานพยาบาลทุกประเภท รวมถึงค่าใช้จ่ายของกองทุนที่ดูแลด้านสุขภาพคนไทยทั้ง 3 กองทุน

หากยืดอายุสิทธิบัตรให้อียูถึง 10 ปี มูลค่าผลกระทบจะมากกว่า 2 แสนล้านบาทขณะที่อุตสาหกรรมยาของไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่ค้าในกรอบเอฟทีเอแม้จะมีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ แต่ไทยก็ต้องลดภาษีนำเข้ายารักษาโรคสำเร็จรูปด้วย ทำให้ผู้ผลิตยาของไทยเสียเปรียบ

3.การยอมรับทริปส์พลัสจะส่งผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาที่จะส่งผลกระทบต่องบประมาณของประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 81,356 ล้านบาท จากการยอมผูกขาดข้อมูลทางยาเพียงประเด็นเดียว และที่ TPP บังคับมากไปกว่า FTA อื่นๆคือ ห้ามต่อรองราคายา

4.ยูเอ็นเอดส์ ยูเอ็นดีพี และองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ "คำนึงถึง...ผลกระทบต่อการสาธารณสุขเมื่อพิจารณารับหรือปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากยิ่งขึ้น (ไปกว่าที่ความตกลงทริปส์กำหนดเอาไว้)" และเสนอให้ประเทศต่างๆควรจะหลีกเลี่ยงการทำเอฟทีเอ ซึ่งเป็นแบบทริปส์พลัสที่จะส่งผลกระทบต่อราคายา

5.ยิ่งไปกว่านั้น ในความตกลง TPP ยังบังคับให้ประเทศสมาชิกยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ด้านการค้าบริการและการลงทุนสหรัฐเรียกร้องให้ใช้แนวทางNagative List (อะไรที่เปิดเสรีไม่ได้ให้แจ้งอะไรที่ไม่แจ้งต้องเปิดเสรีทั้งหมด) เปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค

ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องยกเลิกนโยบายสาธารณะ หรือเรียกค่าชดเชยจากรัฐในนโยบายต่างๆ ได้ ซึ่งขณะนี้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ยังไม่ยอมรับส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ประกาศไม่ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ

6.สิ่งที่กรมเจรจาฯ ไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะอย่างครบถ้วน และ ครม.ก็อาจไม่มีความรู้ คือ การที่ประเทศใดเข้าไปเจรจาทีหลังจะถูกบังคับให้ยอมรับความตกลงที่มากกว่าประเทศสมาชิกเดิม 8 ประเทศซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะความกระอักกระอ่วนนี้อยู่

นอกจากนี้ ในช่วงดีเบตเพื่อเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา ก็ยอมรับว่าจะใช้TPP เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกดดันจีนให้โอนอ่อนตามสหรัฐ (Creating trade bloc with other Asian countries to put pres sure on China to play by our rules)

ประเทศไทยอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในประเด็นนี้

หากประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เงื่อนไขการให้ทริปส์พลัสจะกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย การกำหนดกรอบเจรจาจึงต้องมีความให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

การให้ทริปส์พลัสเป็นการขยายสิทธิผูกขาดเชิงพาณิชย์ในยารักษาโรค จะทำให้ยามีราคาแพงลิ่ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถครอบคลุมยาจำเป็นที่มีราคาแพงในชุดสิทธิประโยชน์ได้

อีกทั้งผลการศึกษาของสถาบันวิจัยต่างๆชี้ตรงกันว่า อุตสาหกรรมยาของไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเจรจาเอฟทีเอ มีแต่อุตสาหกรรมยาข้ามชาติเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

ไทยต้องยืนยันและคงสถานะของการปฏิบัติตามความตกลงทริปส์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกยอมรับเพื่อรักษาชีวิตของคนไทยทุกคนที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา เพราะยาเป็นสินค้าจำเป็น ไม่ได้มีทางเลือกอื่น.

"การให้ทริปส์พลัสเป็นการขยายสิทธิผูกขาดเชิงพาณิชย์ในยารักษาโรค จะทำให้ยามีราคาแพงลิ่ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถครอบคลุมยาจำเป็นที่มีราคาแพงในชุดสิทธิประโยชน์ได้ อีกทั้งผลการศึกษาของสถาบันวิจัยต่างๆ ชี้ตรงกันว่าอุตสาหกรรมยาของไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเจรจาเอฟทีเอ มีแต่อุตสาหกรรมยาข้ามชาติเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ"

ผู้เขียน : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมระหว่างแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็นองค์การหมอไร้พรมแดน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2555