บรรยากาศการอบรมยุวอาสาสมัครสาธารณสุข รุ่นที่ 1 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดขึ้นที่อาคาร เจเจมอลล์ เป็นไปอย่างคึกคัก เยาวชนวัยกระเตาะ หน้าตาจิ้มลิ้ม ต่างมุ่งมั่นกับกิจกรรมที่ "พี่ๆ" จากกระทรวงสาธารณสุข มาบอกเล่า และให้ทดลองฝึกปฏิบัติกัน
พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ใหม่ๆ ก็ทำกันแบบเก้อเขิน ผิดๆ ถูกๆ แต่ฝึกไปหลายครั้งเข้าก็เริ่มชิน และคล่องแคล่วมากขึ้น
พวกพี่ๆ แนะนำการรับประทานอาหารที่ถูกหลัก ที่เน้นลดอาหารหวาน มัน เค็ม แต่ควรเติมเต็มด้วยผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ขีด รวมทั้งแจกเอกสารเปรียบเทียบคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม และควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ การแนะนำดูฉลากเครื่องสำอางและแนะวิธีการเลือกซื้อ ที่ควรซื้อจาก ร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ เพราะหากเกิดปัญหาสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ และควรมีฉลากภาษาไทยที่ระบุข้อความที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ชัดเจน อย่างวันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า ส่วนผสม คำเตือน ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต เป็นต้น
ที่สำคัญ...อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
คุณหมอประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นประธานในการฝึกอบรม ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) บอกว่า การอบรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้ ยุว อสม.ได้เป็นต้นแบบด้านสุขภาพ สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้สดใสแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และยังเป็นผู้ช่วยเหลือจัดบริการสุขภาพ ร่วมกับครู อาจารย์ในโรงเรียน นักเรียนเหล่านี้อาจนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสื่อสารเผยแพร่ไปยังเพื่อนๆ ในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนอีกด้วย
สภาพแวดล้อมในปัจจุบันส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอันตรายต่อสุขภาพ อันมีสาเหตุจากการไม่ดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสมและอิทธิพลของสังคม อย่างสื่อการโฆษณา ที่มักชักชวนไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือการพบเห็นแบบอย่างที่ไม่ดีจากเพื่อนและบุคคลรอบตัว
จากการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ. เมื่อปี 2553 พบว่าเด็กกลุ่มอายุ 6-15 ปี มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงและน่าเป็นห่วง คือ ร้อยละ 10.5 ดื่มน้ำอัดลม หรือดื่มน้ำหวานทุกวัน ร้อยละ 12.5 กินขนมกรุบกรอบทุกวัน ส่งผลให้เด็กอ้วน ฟันผุ
และจากรายงานการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย ปี 2551 ของกรมอนามัยพบว่า นักเรียนไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินถึงร้อยละ 10 และมีน้ำหนักเกินแล้วร้อยละ 4.4 นอกจากนี้ ในรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6 ในปี 2549-2550 ของ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 15 ปีทั่วประเทศ เป็นโรคฟันผุ ถึงร้อยละ 66.33
ขณะที่พฤติกรรมการออกกำลังกาย พบว่านักเรียนทำกิจกรรมการออกกำลังกายที่รวมแล้วไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาที ตลอดทั้ง 7 วัน มีเพียงร้อยละ 13.8 เท่านั้น
ส่วนพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย พบว่าเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยงไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกค่อนข้างน้อย คือ อายุ 13 ปี นอกจากนี้ ยังมีรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมความเครียด ที่พบว่านักเรียนบางคนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างจนนอนไม่หลับในเวลากลางคืน
นอกจากนี้ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ทำการสำรวจระดับการรู้เท่าทันด้านสุขภาพในกลุ่มเยาวชนไทย อายุ 12-15 ปี พบว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องอุบัติเหตุ ที่ยังขาดการรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยร้อยละ 30.80 ตอบว่าจะสวมหมวกกันน็อกเฉพาะเวลาเดินทางไกลเท่านั้น รวมถึงการไม่สนใจต่อพิษภัยของบุหรี่ และการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมด้วย
คุณหมอประดิษฐบอกว่า "ยุว อสม." ที่เข้ามาอบรมครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 โรงเรียน โรงเรียนละ 50 คน เด็กๆ เหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของเพื่อนเยาวชนด้วยกันรวมทั้งคนในชุมชน โดยมีครูและอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา ในอนาคต สธ.จะขยายการอบรมรุ่นต่อไปอีก 10,000 คน
เร็วๆ นี้ ยุว อสม.จะเป็นผู้นำด้านสุขภาพรุ่นใหม่ ที่คอยขับเคลื่อนสร้างรากฐานของการมีสุขภาพที่ดีในอนาคต จากการปฏิบัติจริง ที่มีความรู้ความเข้าใจและทักษะด้านสุขภาพ สามารถส่งต่อให้กับทุกคนในสังคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555
- 165 views