หลังจากเมื่อต้นปี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เจรจาขอซื้อหุ้น 33 เปอร์เซ็นต์คืนจากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) เจ้าของ โรงพยาบาลกรุงเทพที่เข้ามาควบรวมกิจการกับโรงพยาบาลพญาไท โดยมีกลุ่มอุไรรัตน์ถือหุ้นในบริษัทประสิทธิรัตน์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสถาบันการศึกษา (ม.รังสิต) และเนื่องจากผลจากการควบรวมกิจการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย แต่ด้วยราคาที่เสนอมามีมูลค่า 1,900 ล้านบาท ทำให้ ดร.อาทิตย์ชะลอ การตัดสินใจ และหันเดินหน้าเพิ่มความแข็งแรงทางวิชาการและการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพให้กับคนไทยตามสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้ แม้วันนี้ธุรกิจหลักของตระกูลจะอยู่ในธุรกิจการศึกษา
หลายปีก่อน ดร.อาทิตย์ได้เริ่มบ่มเพาะรากฐานของธุรกิจการแพทย์ ในสถาบันการศึกษา โดยจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นแห่งแรก รวมไปถึงการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แผนตะวันออก คณะเภสัชศาสตร์ และการริเริ่มเปิดธุรกิจสุขภาพ "อาร์เอสยู เฮลธ์แคร์" ที่อาคารฟินิกซ์และอาคารวานิช 2 โดยมี อภิวัฒิ อุไรรัตน์ ลูกชายของ ดร.อาทิตย์เป็นผู้ดูแลล่าสุดฝันชัดเจนขึ้นอีกขั้น ด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หลังจากมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ น้ำท่วม คณะเภสัชศาสตร์จึงเปิด "โรงงานยาสมุนไพร ซัน เฮิร์บ ไทย ไชนีส แมนนูแฟคเจอริ่ง" ดำเนินธุรกิจผลิตยา เพื่อเปิดให้นักศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยรังสิตและนักศึกษาของที่อื่น ๆ เข้ามาฝึกงานในธุรกิจจริง และยังใช้โครงการนี้ สำหรับการวิจัยและพัฒนาคุณภาพยา ร่วมกับ Heilongjiang University of Chinese Medicine ประเทศจีน เพื่อพัฒนาสูตร ตำรับยาสมุนไพรไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล
ในงานเปิดโรงงานยาเมื่อเร็ว ๆ นี้ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีการเชิญผู้สนใจ ร่วมทุนจากประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศจีนและตะวันออกกลางเข้าร่วมสังเกตการณ์ สูจิบัตรของงานถูกจัดทำอย่างสวยหรูและมี 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน เพื่อให้นักลงทุนเห็นความเอาจริงเอาจังและความมุ่งมั่นในการเปิดช่องทางการบริการทางการแพทย์ ที่มีแนวทาง ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปที่คนมีฐานะและชาวต่างชาติเท่านั้นที่มีโอกาสในการ เข้าถึงบริการ ซึ่งขณะนี้ ดร.อาทิตย์มีแผนร่วมทุนกับต่างชาติ จัดตั้งศูนย์แพทย์ทางเลือก โดยมองพื้นที่ย่านสุขุมวิท 22 และบริเวณใกล้เคียงกับโรงแรมแลนด์มาร์ค ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับ ผู้สนใจร่วมทุน และโรงงานแห่งนี้จะช่วยซัพพอร์ตในการรักษาได้อย่างดี หลังจากโรงพยาบาลเปิดตัว
ส่วนจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงงานผลิตยานั้น เกิดจากความตั้งใจของ "ศ.(พิเศษ) ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" หรือเภสัชกรยิปซี เจ้าของรางวัล แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 ที่วันนี้เข้ามานั่งในตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยจิตใจเมตตาที่ต้องการช่วยเหลือคน จึงมาทำงานที่ ม.รังสิตโดยไม่รับเงินเดือน แต่สิ่งตอบแทนที่ได้คือการสานฝันในการ ผลิตยารักษาผู้ป่วยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ดร.กฤษณาบอกว่า ที่เลือกมหาวิทยาลัยรังสิต เพราะเห็นว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน จึงสามารถทำอะไรได้ง่ายโดยเฉพาะการช่วยเหลือชุมชน อยากให้สิ่งนี้เป็นตัวอย่างให้กับที่อื่น ๆ ได้เห็นว่าแม้เป็นสถาบันการศึกษาก็สามารถทำอะไรเพื่อสังคม ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างโครงการนี้ ดร.อาทิตย์อนุมัติให้สร้างโรงงานผลิตยา โดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าทำงานกับคนมีเมตตา ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นจริงได้
"โรงงานผลิตยาแห่งนี้ไม่ได้จัดทำเพื่อหวังผลกำไร ไม่ใช่ nonprot แต่เป็น not for prot ที่ต้องทำกิจการเพื่อให้เราอยู่ได้ เรารับผลิตยาให้กับภายนอก โดยมีการตรวจสอบคุณภาพยาก่อนผลิต และโรงงานผลิตยาแห่งนี้ยังได้รับมาตรฐาน จีเอ็มพี (GMP) สามารถผลิตยาให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทย เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเพิ่มยาสมุนไพรในการรักษาให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้คนไทยสามารถซื้อยาคุณภาพดี ราคาถูก และลดการ นำเข้ายาจากต่างประเทศ"
จากประสบการณ์ของ ดร.กฤษณา ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศแอฟริกาให้เข้าถึงยา และเป็นผู้จัดสร้างโรงงานผลิตยาที่มีมาตรฐานในพื้นที่ทุรกันดาร หรือการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของจีน ทำให้งานทั้งธุรกิจและงานวิชาการมีความ เชื่อมโยงกับหลายประเทศ และสามารถ แลกองค์ความรู้ การวิจัย และแลกเปลี่ยนอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากอาเซียนและภูมิภาคในอนาคตได้ไม่ยาก
โดยขณะนี้ ดร.กฤษณาได้ร่วมมือกับประเทศจีนเพื่อพิสูจน์ตำรับยาสมุนไพร 64 รายการ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในตำรับแรกคือ ยาหอมเทพจิต พร้อมนำสมุนไพรบางชนิดจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
"ในวัยเด็กเคยติดตามบิดาซึ่งเป็นแพทย์ที่ให้การรักษาคนที่จังหวัดนราธิวาส จึงอยากทำอะไรตอบแทนคน 3 จังหวัดภาคใต้ และสมุนไพรก็มีคุณภาพสูง ไม่ ปนเปื้อน แต่สิ่งที่ต้องการไม่ได้อยากให้เขาส่งสมุนไพรสดให้เรา แต่อยากให้ ชาวบ้านได้เรียนรู้กระบวนการแปรรูปเป็นผง และส่งมาให้เราบรรจุเป็นแคปซูล และถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกภูมิภาคมีโรงงาน ยาสมุนไพรเป็นของตนเอง เพื่อดูแลสุขภาพของชุมชนด้วยตนเองได้"
นอกจากนี้ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นคณะเดียวที่มีการจัดตั้งระบบ video con ference สำหรับใช้ในการประชุมของคณะ โดยผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต้องเดินทางมา นอกจากนี้ยังมีแผนในการนำองค์ความรู้กระจายไปสู่โรงเรียนในชนบทเพื่อให้มีความรู้ด้านการผลิตยา โดยติดตั้งระบบ video conference ในโรงงานยาเพื่อเชื่อมการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียนแบบเรียลไทม์อีกด้วย
จากนี้ไปโรงงานผลิตยาแห่งนี้จะมีโครงการต่อเนื่องอีกหลายโครงการ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลกระทบด้านบวก ทั้งวิชาการและการช่วยเหลือสังคมได้อีกมาก ซึ่งเป็นอีกบทบาทของธุรกิจการศึกษาในการร่วมดูแลสังคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 14 พ.ย. 2555--
- 135 views