สภาพยาบาล มั่นใจไทยได้เปรียบ การให้บริการด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ออกนอกประเทศ หวั่นเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์-พยาบาล แนะรัฐลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ หวังสร้างแรงจูงใจการจ้างงาน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล กล่าวในการสัมมนาสมาชิกสภาพยาบาลประจำปี 2555 ถึงการเตรียมความพร้อมของพยาบาลในประชาคมอาเซียนปี 2558 ว่าสภาพยาบาล และสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศจะต้องเผชิญ คือเรื่องของโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น
เนื่องจากผู้ป่วยในประเทศสมาชิก มีการเดินทางเข้ามารักษาในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งการใช้บริการสุขภาพของผู้ใช้บริการต่างชาติจะมาในรูปแบบของทัวร์สุขภาพมากขึ้น มีการ ใช้บริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ การใช้บริการข้ามพรมแดนของประชากรประเทศเพื่อนบ้าน และยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังคน
ที่ผ่านมาทางสภาพยาบาลได้ลงนามความร่วมมือ กับทาง ASEAN Community กับวิชาชีพพยาบาล หรือ ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Nursing Service (MRA) ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของพยาบาลใน MRA ว่าต้องสำเร็จการศึกษา ในหลักสูตร ระดับพยาบาลวิชาชีพและสถาบันที่ได้รับการรับรอง ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จาก Nursing Regulatory Authority ของประเทศต้นทาง ต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน วิชาชีพอย่างน้อย 3 ปี ก่อนการเข้าทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่มีประวัติกระทำความผิด ด้านมาตรฐานและจริยธรรม สามารถสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในประเทศปลายทาง ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
การลงนามดังกล่าวทำให้เกิดข้อดีกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และเกิดตลาดผู้ให้บริการด้านสุขภาพขยายตัวมากขึ้นรวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ขณะที่ข้อเสียพบว่าจะเพิ่มปัญหาทำให้ขาดแคลนแพทย์-พยาบาล ภายในประเทศ เกิดการแข่งขันของกลุ่มแพทย์-พยาบาล รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎระเบียบปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพภายในได้
นายกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาพยาบาล คนที่สอง กล่าวว่าการเปิดประชาคมอาเซียน ต้องดำเนินการภายใต้กรอบทางสังคมวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ไม่ควรมองเศรษฐกิจอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือสภาพยาบาลต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิกถึงการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพยาบาล ให้มีความพร้อม ทั้งทักษะการทำงาน การให้บริการ และภาษา เพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น
ส่วนการป้องกันพยาบาลที่มีคุณภาพไม่ให้ ออกไปนอกประเทศ ทางสภาพยาบาลได้ทำข้อเสนอ ให้รัฐบาลว่า ต้องลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของพยาบาลไทย พัฒนาเพื่อการจ้างงาน และเป็นการดึงดูดการจ้างงานภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็จะมีพยาบาลจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำงานในไทยแน่นอน ดังนั้นสภาพยาบาลจะคัดเลือก พยาบาลที่มีคุณภาพ เพื่อให้ใบอนุญาตจากสภาพยาบาล พัฒนาการจ้างงานภายในประเทศให้ดีขึ้น และมีการจ้างงาน
ขณะที่ข้อได้เปรียบของการเปิดประชาคมอาเซียนนั้น ไทยถือว่าได้เปรียบเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ ระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งด้านการแพทย์ การพยาบาล ถือว่าดีที่สุดของกลุ่มอาเซียน แต่ไทยก็ต้องเร่งพัฒนาระบบการบริการให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และเตรียมความพร้อมบุคลากร
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555
- 4 views