"หมอประดิษฐ์" รุกนโยบาย 30 บาทยุคใหม่ เน้นปรับโครงสร้างการเงินการคลังให้สมดุลตั้งเป้า 1 ปีจะมีหน่วยงานกลางในการจัดทำธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลระดับชาติ พร้อมบูรณาการ 3 กองทุนเท่าเทียม เตรียมเดินหน้าบูรณาการขยายสิทธิรักษามะเร็งทั้งระบบมาตรฐานเดียว "บอร์ดสปสช."อนุมัติเพิ่มยาแพง 7 รายการ บรรจุสิทธิประโยชน์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่ม
หลังการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เพียง2วัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินหน้าปรับนโยบาย30บาทยุคใหม่ใน 4 ประการเพื่อบูรณาการการทำงาน 3 กองทุนสุขภาพให้มีระบบการรักษามาตรฐานเดียว
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ทิศทางการทำงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 10 ปีต่อไปคนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น และจะต้องมีสุขภาพดีเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆเพื่อเป็นฐานในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานจะเน้นร่วมกันเป็นทีม ทั้งภายในหน่วยงาน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายตัวชี้วัดการวัดผลการทำงานชัดเจนตามนโยบาย 4 ประการ
1.การปรับโครงสร้างด้านการเงินการคลังเพื่อสร้างความสมดุลของรายได้และรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว ทั้งระดับมหภาค ภูมิภาค และระดับโรงพยาบาลที่เหมาะสมของแต่ละแห่ง โดยสปสช.ต้องมีระบบการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับระบบตัวชี้วัดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีระบบการติดตามกำกับผลงานที่มีประสิทธิภาพ มีการปรับระบบจัดการบริหารภายใน โดยปรับโครงสร้างเพื่อรองรับงานใหม่ การสื่อสารสาธารณะเชิงรุก ตลอดจนพัฒนาระบบการดูแลค่าตอบแทนบุคลากร (commissioning) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
2.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารให้เป็นระบบและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลระดับชาติ (National Health Information) และภายใน 1 ปี ตั้งเป้าหมาย จะมีหน่วยงานกลาง ในการจัดทำธุรกรรมการเบิกจ่ายระดับชาติ (National clearing house) หรือเคลียริ่งเฮาส์เกิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการดูแลระบบที่มีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน หน่วยบริการจะส่งข้อมูลทุกระบบผ่านหน่วยงานเดียวระบบเดียว มีระบบการเรียกเก็บเงินจากสปสช.ไปยังกองทุนอื่น และจ่ายเงินจากสปสช.ให้หน่วยบริการ เป็นระบบเดียว ใช้ได้กับ 3 กองทุน มีการนำข้อมูลของทุกระบบไปใช้ในการติดตามและวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีการจัดระบบร้องเรียนจากประชาชนและหน่วยบริการด้วย
3.การเสริมสร้างบทบาทหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยในระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีและประโยชน์ร่วมกันทั้งระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการเป็นศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้มีการหารือการทำงานกับญี่ปุ่น ทั้งในประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพมา 10 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งขณะนี้สปสช.มีโครงการร่วมกับองค์กรนานาชาติ เช่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในการทำโครงการพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศต่างๆ ขณะที่ในเวทีระดับนานาชาติ เช่น สมัชชาสุขภาพโลก และ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นมติในเวทีต่างๆ ซึ่งจะมีการนำเข้าหารือในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งหน้า และมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัดสหัสวรรษใหม่โดยนำบทเรียนเรื่องเกี่ยวกับระบบหลักประกันต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย
บูรณาการมะเร็งระบบเดียว
4.การเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค มีนโยบายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นทัดเทียมกันที่จะเตรียมเสนอ คือ การบูรณาการโรคมะเร็งทั้งระบบมี หลักเกณฑ์รักษาเหมือนกัน, การใช้ระบบการเบิกจ่ายเดียวกันและมีการจัดระบบการจัดซื้อยารวมเพื่อให้ได้ราคาถูกลง 2. การดูแลสุขภาพในระยะยาวโดยจะทำร่วมกับญี่ปุ่นโดยจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแนวใหม่ และ 3. การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองโดยจะมีการนำระบบการบำบัดอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมาใช้ และการขยายบริการเชิงรุกภายในชุมชน รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบบริการอย่างทันท่วงที
"ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายในการรวมกองทุน เนื่องจากที่มาของแต่ละกองทุนต่างกัน และ สิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนจะต้องไม่ลดลง จะยกระดับสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนขึ้นไปให้เท่ากัน และบูรณาการให้มีมาตรฐานเดียวกัน"
สปสช.อนุมัติเพิ่มยาแพง 7 รายการ
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของมติคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2555 ในการเสนอรายการยาใหม่ที่เข้าบัญชียา จ(2) เพื่อเสนอเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในยา 7 รายการ ดังนี้ 1.ยาสำหรับรักษาภาวะโรคไขกระดูกฝ่อระยะรุนแรง (severe aplitic anemia) 2. ยาสำหรับรักษาโรคเกาเซอร์ (Gaucher syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (พบผู้ป่วยน้อยรายแต่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก) 3.ยาต้านจุลชีพ สำหรับรักษาเชื้อดื้อยา MRSA (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus) 4.ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีอยู่เดิม 5.ยามะเร็งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น 6.กลุ่มยาต้านพิษโดยเฉพาะพิษงูรวมที่มีผลต่อระบบประสาทและระบบเลือด และ7.ยากำพร้า ที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเดิมไม่มีบริษัทใดนำยาเข้ามาขายในประเทศ
ส่วนกรณีที่ตนเสนอต่อที่ประชุมให้ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติหารือกับทางคณะอนุกรรมการการเงินการคลังก่อนนำเสนอเพิ่มรายการยาบัญชี จ(2) เพราะอยากให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและเกิดความราบรื่น โดยยืนยันว่ายาไหนที่มีประโยชน์และจำเป็นก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของหน่วยพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพบว่า จากการใช้บริการรักษาผู้ป่วยใน 5 ล้านครั้ง ที่มีการสุ่มตรวจการเบิกจ่ายจากเวชระเบียน 100,000 ครั้ง จากโรงพยาบาล 1,000 แห่ง พบว่ามีการเบิกจ่ายผิดพลาด ทำให้ต้องมีการเรียกเงินคืน 200 ล้านบาท โดยจากการตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นการคีย์ใส่ข้อมูลผิดพลาด
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555
- 6 views