วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2555) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยมราชการที่จังหวัดปัตตานี และติดตามมาตรการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดยได้เยี่ยมและมอบกระเช้าของขวัญให้ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ไม่สงบ ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี จำนวน 5 ราย และพบปะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เพื่อให้กำลังใจในการทำงาน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยประชาชนในพื้นที่ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น รวมทั้งห่วงใยความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย และจะต้องปรับบริการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมทั้งสวัสดิการ ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่
นายแพทย์ประดิษฐ์กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะเน้นที่ความปลอดภัย ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ควบคู่กับการจัดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสาธารณสุขให้ตรงกับปัญหา และมีการประเมินผลโดยใช้ตัวชี้วัดการทำงานเป็นหลัก ซึ่งจะมีการติดตามทุก 6 เดือน เพื่อปรับแก้ให้ทันต่อสถานการณ์ โดยยุทธศาสตร์จะเน้น 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบริการให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับวิถีชุมชน พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลหรือรพ.สต.ให้เป็นสถานบริการใกล้บ้าน มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน และสามารถตอบสนองต่อเหตุวิกฤติเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด 2.เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย เช่นผู้นำศาสนา โดยพัฒนาส่งเสริมให้โรงเรียนปอเนาะ มัสยิด และวัดเป็นสถานที่ส่งเสริมสุขภาพดี โรงพยาบาลทุกแห่งมีโรงครัวฮาลาล 100 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งใน 4 จังหวัดชายแดนใต้มีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของชาวไทยมุสลิมทั้งหมด และ3.เน้นการบริหารจัดการและสนับสนุน เช่นระบบความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ ระบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และพัฒนาด้านกำลังคนที่ยังขาดแคลนในพื้นที่ เช่น จัดนักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาลชุมชนรองรับการดูแลคนพิการซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมุ่งหวังว่างานบริการสุขภาพจะเป็นหลักของการนำสันติภาพกลับมาสู่ 4 จังหวัดชายแดนใต้
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษ โดยเป็นแผนระยะกลาง 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2556-2558 โดยเป้าหมายระยะสั้นที่จะต้องเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ได้แก่ 1.การจัดบริการของรพ.สต. 494 แห่ง ซึ่งเป็นระดับปฐมภูมิมีหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจ มีระบบปรึกษาแพทย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทุกแห่ง เนื่องจากขณะนี้บุคลากรของพื้นที่ประจำหน่วยบริการดังกล่าวเฉลี่ย 1 ต่อ 900 ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 2.เพิ่มคุณภาพการรักษาในโรงพยาบาลในโรคที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ เช่นการผ่าตัดเปิดหัวใจ ลดคิวรอคอย จะใช้การบูรณาการระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคหัวใจรอผ่าตัด 362 ราย ที่ผ่านมาต้องรอเฉลี่ย 5 ปี โดยในปี 2556 จะลดให้ไม่เกิน 1 ปี ไม่เกินครึ่งปีในปี 2557 และไม่เกิน 3 เดือนในปี 2558 /ทั้งนี้ เมื่อสิ้นแผน…
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นแผนในปี 2558 คาดหวังว่าสุขภาพอนามัยของประชาชนจะดีขึ้น 6 ด้าน ได้แก่ 1.อัตราตายมารดาลดลงจาก 36 เหลือน้อยกว่า 24 ต่อแสนประชากรการเกิดมีชีพ 2.เด็กวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีฟันดีเพิ่มจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 3.ดูแลป้องกันการป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้เป็นไปตามเป้าหมายประเทศ 4.ดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบและผู้พิการ หลังเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง 4 ครั้ง ให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 5.ผ่าตัดตาต้อกระจกผู้สูงอายุปีละ 5,000 ดวงตา และใส่ฟันเทียมทั้งปากประมาณปีละ 3,000 ราย และจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอละ 1 แห่ง และที่ศาสนสถานจังหวัดละ 1 แห่ง เยี่ยมดูแลผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และอยู่ที่บ้านครอบคลุมให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 และ6.พัฒนาให้มัสยิดเป็นค่ายบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณลงมาตามแผนเป็นกรณีพิเศษ
- 3 views