“ประดิษฐ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งแรก ไฟเขียวเพิ่ม 7 กลุ่มยาเข้าบัญชียาจำเป็นราคาแพงในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ย้ำพิจารณายาเข้าสิทธิประโยชน์ต้องหารือคลังก่อน
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งแรก เพื่อติดตามผลการดำเนินการเรื่องยาจำเป็น ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยาทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.ยาสำหรับรักษาภาวะโรคไขกระดูกฝ่อระยะรุนแรง (severe aplitic anemia) 2.ยาสำหรับรักษาโรคเกาเซอร์ (Gaucher syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม พบผู้ป่วยน้อยรายแต่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก 3.ยาต้านจุลชีพ สำหรับรักษาเชื้อดื้อยา MRSA (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus) 4.ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีอยู่เดิม 5.ยามะเร็งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น 6.กลุ่มยาต้านพิษโดยเฉพาะพิษงูรวมที่มีผลต่อระบบประสาท และ ระบบเลือด และ 7.ยากำพร้า ที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเดิมไม่มีบริษัทใดนำยาเข้ามาขายในประเทศ ให้เข้าสู่ในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ ในกลุ่มบัญชียา จ(2) หรือยาจำเป็นที่มีราคาแพง ตามข้อเสนอของมติคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“หากจะมีการพิจารณายาตัวใดเข้าสู่สิทธิประโยชน์อีก ขอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติมีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการการเงินการคลังของ บอร์ด สปสช.เพื่อให้การเพิ่มรายการยาสอดคล้องกับงบประมาณ เนื่องจากต้องมีการเตรียมพร้อม เพราะโดยปกติบอร์ด สปสช.จะมีการพิจารณางบประมาณตั้งไว้ก่อนแล้วในการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ หากมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตัวใด ทำให้ต้องมีการปรับแก้ ซึ่งไม่ใช่ไม่ทำ เพราะเรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนย่อมต้องทำ เพียงแต่ต้องมีการเตรียมพร้อม” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นในกลุ่มยา 10 กลุ่มแล้ว คือ 1.กลุ่มยาจำเป็นราคาแพงในบัญชียา จ(2) 2.กลุ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี 3.กลุ่มยาต้านวัณโรค 4.กลุ่มยาวัคซีนอีพีไอ หรือวัคซีนในกลุ่มสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 5.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 6.วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7.ยาจิตเวช 8.ยาโคลพิโดเกรลสำหรับรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 9.ยาดีเฟอริโพรน หรือยาขับเหล็ก และ 10.กลุ่มยากำพร้า ซึ่งจากการต่อรองราคายาในปี 2555 ประหยัดงบประมาณในการจัดหายาได้ถึง 5,770 ล้านบาท เมื่อรวมกับการต่อรองราคาเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาอีก 2,400 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,170 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทย พบว่า ในปี 2538 มีอัตราการเติบโตของค่ายาร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ล่าสุด ในปี 2550 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45 หรือราว 1.7 แสนล้านบาท ของรายจ่ายด้านสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ซึ่งมีมูลค่าที่สูงเนื่องจากเกิดจากสาเหตุเกิดจากการใช้ยาเกินความจำเป็นหรือการใช้ยาที่มีราคาแพง
ที่มา : www.manager.co.th
- 8 views