ที่ประชุมหัวข้อ "มาลาเรีย 2012 การปกป้องชีวิตในเอเชีย-แปซิฟิก" ซึ่งจัดขึ้นที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน มีการเผยแพร่รายงานผู้เชี่ยวชาญซึ่งระบุว่า เอเชียมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียมากถึง 30 ล้านคนที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 42,000 คนต่อปี และผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้มีมาตรการตอบสนองต่อโรคที่เป็นภัยคุกคามคนอีกนับพันล้านคนในภูมิภาคอย่างเร่งด่วน
รายงานดังกล่าวชี้ว่า ความพยายามในระดับนานาชาติ ที่จะเอาชนะมาลาเรียที่ผ่านมาส่วนใหญ่มุ่งไปที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี่ในสัดส่วนสูงที่สุดจากจำนวนทั้งหมด 650,000 คนทั่วโลกอาศัยอยู่ ทว่าจาก 3,300 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีถึง 2,500 ล้านคนเป็นผู้ที่อยู่นอกทวีปแอฟริกาและส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย นอกจากนั้นจำนวนผู้ที่มีอาการดื้อยาในการรักษาโรคดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นจนเป็นปัญหาที่น่ากังวลเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชั้นนำของโลกที่เข้าร่วมในการประชุมนี้ ยืนยันถึงความจำเป็นในการสร้างปณิธานทางการเมืองที่เข้มแข็งและความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ดียิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับโรคมาลาเรีย โดยมีกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปีละมากกว่า 2,000 ล้านคน
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยโรคมาลาเรียนอกแอฟริกา 34 ล้านคน เมื่อปี 2553 เสียชีวิต 46,000 คน ในจำนวนนี้ 30 ล้านคน หรือ 88 เปอร์เซ็นต์ ที่ป่วยอยู่ในเอเชีย และเสียชีวิต 42,000 คน หรือ 91 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่สถานการณ์หนักที่สุดคือ อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ปากีสถาน และปาปัวนิวกินี ขณะที่พบผู้ป่วยดื้อยาในไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม (เอเอฟพี)
--มติชน ฉบับวันที่ 4 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 3 views