ก่อนที่ประตูเสรีด้านบริการสุขภาพ จะเปิดออกจากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ตลอด 2- 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ "พยาบาล" ซึ่งในแต่ละปีผลิตได้เพียง 9,000-10,000 คน ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาด
นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ฉายภาพว่า ภาวะการขาดแคลนพยาบาล เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 10 ปี ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจเฮลธ์แคร์เติบโตอย่างรวดเร็วใน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย "เมดิคัลฮับ" ดึงดูดชาวต่างชาติมาใช้บริการ มากขึ้น พบว่า 2 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทยมีถึง 1.4 ล้านคน ขณะที่ ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.55) ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในไทยมีมากถึง 7 แสนคน ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2.53 ล้านคน ยังไม่รวมความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพมาจากคนในประเทศ โดยตัวเลขต่างชาติมารักษาในไทย 1.4 ล้านคน มาจาก อเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง แต่เมื่อเกิดเออีซีจะทำให้คนฐานะดีจากตลาดนี้เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในไทยมากขึ้น ทำให้การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก ทั้งในด้านปริมาณกำลังคน และทักษะที่จำเป็นกับความต้องการของประชาชน
"เราไม่กังกลเรื่องภาวะการไหลออกของบุคลากร แต่กลัวการไหลกันภายในมากกว่า เพราะแน่นอนเมื่อมีผู้ใช้บริการมาก ย่อมทำให้เกิดการดึงตัวบุคลากร ไหลจากรพ.ภาครัฐไปยังรพ.เอกชน หรือไหลจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ตรงนี้น่ากลัว จะส่งผลกระทบให้คนไทยไม่รับบริการที่ดีพอ"
นพ.วิโรจน์ ยังบอกว่า รพ.นครธนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทั้งการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้กับพยาบาล การให้ทุนการศึกษา การเพิ่ม "ค่าภาษา" ให้กับพยาบาลที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ รวมถึงการให้ "ค่าคอมมิชชั่น" สำหรับการแนะนำเพื่อนมาทำงาน ขณะเดียวกันยังเปิดรับสมัครพยาบาลตลอดทั้งปี เพื่อขึ้นทะเบียนไว้กรณีที่มีอัตราว่าง หรือแม้แต่การจัดสัญจรแนะนำรพ.ไปในสถานบันการศึกษา "ต่อไปไม่ใช่แค่พยาบาลขาดแคลนเท่านั้น แต่จะประสบปัญหาขาดแคลน เภสัช นักรังสี เทคนิเชียล กายภาพ ที่ตามมาเป็นลูกโซ่แน่นอน" เขาระบุ
"รามคำแหง"มุ่งรักษาคนเก่า
นพ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รามคำแหงได้เตรียมแผนรองรับการขาดแคลนบุคลากร ด้วยการมุ่งเน้นการรักษาคนเก่าไว้กับองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มของพยาบาล ด้วยการสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพ ให้พยาบาล มีส่วนวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาร่วมกับแพทย์ ทั้งยังมีนโยบายสร้างการเติบโตในสายอาชีพ โดยสนับสนุนให้ทุนแบบไม่อั้น
"เราปรับกลยุทธ์ใหม่ ว่าทำอย่างไรจะมัดใจบุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลอยู่กับรพ.ให้ได้นาน เพราะการปรับเพิ่มค่าจ้างไปเรื่อยๆ ทุกปี เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น หากไม่สามารถสร้างความผูกพันต่อองค์กรเขาอยู่ไม่นาน เพราะเมื่อมีที่ไหนจ้างแพงกว่าก็จะไป เราต้องปรับวิธีคิด นำเงินก้อนนั้นไปทุ่มเทพัฒนาศักยภาพพยาบาลของเรา โดยเฉพาะการเทรนนิ่ง ล่าสุดทุ่มงบกว่า 70 ล้านบาท เปิดศูนย์เทรนนิ่งเซ็นเตอร์พยาบาลบนถนนรามอินทรา"จากมาตรการดังกล่าว ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สามารถลดอัตราการออกของพยาบาลได้ลงถึง 20% แต่รพ.จะไม่เน้นเรื่องของการให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาด เฉลี่ยรายได้พยาบาลจบใหม่ 19,000 บาทต่อเดือน หากรวมโอทีเฉลี่ย 25,000 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ของแพทย์จะมีอัตราเฉลี่ยระหว่า 1.8 -1.9 แสนบาทต่อคน ขึ้นอยู่กับวิชาชีพ
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี บอกว่า รพ.ธนบุรีได้วางแผนพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมรองรับปัญหานี้มาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากการจับมือกับรพ.ตำรวจ และมหาวิทยาลัยสยาม ผลิตบุคลากรด้านการแพทย์ ส่วนรพ.ในจีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในการจัดเทรนนิ่งพยาบาล ส่วนหนึ่งผลิตป้อนมาในเมืองไทยและต่างประเทศที่ไปเปิดบริการ
"ตอนนี้บุคลากรขาดมากคือพยาบาล ส่งผลรายได้ของพยาบาลจบใหม่มากกว่าวิศวะถึง 2 เท่า รายได้เมื่อรวมโอทีตกประมาณ 2.5 หมื่นบาท"
ส่วนความคืบหน้าใน การจัดตั้งโรงพยาบาลผลิตแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ และคาดว่า 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มเปิดการเรียน การสอนได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะผลิตแพทย์ได้ปีละ 80 คน และจากนั้น คงจะขยับเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 100 คน โดยหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นภาคอินเตอร์
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555
- 18 views