'กลุ่มบุคลากรทางแพทย์'เข้าชื่อยื่นฟ้องศาลปกครอง ถูก'กรมบัญชีกลาง'ละเมิดสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เผย'ครูตำรวจ-ทหาร-ผู้พิพากษา'ก็เอาด้วย
ความคืบหน้ากรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ชะลอออกประกาศ 1 ใน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพียง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรคเรื้อรัง มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2555 2.การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 3.การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยารักษาอาการข้อเสื่อม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 นั้น
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยว่า การชะลอประกาศของกรมบัญชีกลาง เป็นเพียงกรณีลงทะเบียนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1 โรคต่อ 1 โรงพยาบาลเท่านั้น และไม่ใช่เป็นการยกเลิก ขณะที่ประกาศอีก 2 ฉบับ กลับไม่พูดถึง ซึ่งถือว่าไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ประกาศทั้ง 3 ฉบับส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยสิทธิข้าราชการโดยตรง และยังส่งผลต่อแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากมีการกำหนดเหตุผลที่จำกัดการสั่งยาของแพทย์ ในฐานะแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเป็นข้าราชการคนหนึ่งได้มีการหารือกับเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน ขณะนี้มีประมาณ 1,000 คน ที่เห็นว่าสมควรต้องดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด
พญ.ประชุมพรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทนายได้ร่างสำนวนฟ้องร้องเพื่อยื่นต่อศาลปกครองแล้ว เพียงแต่อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ ซึ่ง
อาจจะยื่นในนามข้าราชการ สธ. คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับข้าราชการในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ก็มีแผนจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ ครู-อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ เพราะทั้งหมดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
"เบื้องต้นทราบว่ามีผู้พิพากษาท่านหนึ่งไปยื่นฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่พวกเราก็จะฟ้องอีก เพื่อให้รู้ว่ากรมบัญชีกลางออกประกาศที่ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ที่ระบุชัดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน" พญ.ประชุมพรกล่าว
ทางด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนกรมบัญชีกลาง แพทยสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าหารือเกี่ยวกับประกาศห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะชะลอหรือยกเลิกอย่างไร
"แต่ในส่วนของแพทยสภามองว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตสามารถบรรเทาอาการข้อเสื่อมในผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้จริง หากไม่มีงานวิจัยรองรับชัดเจนควรจะกำหนดเกณฑ์ให้ใช้ได้ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด ส่วนประกาศอีก 2 ฉบับ แพทยสภาก็ขอยืนยันเหมือนเดิมว่าควรชะลอทั้งหมด และเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพราะการออกประกาศดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิผู้ป่วยเกินไป" นายกแพทยสภากล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555
- 1 view