ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนข้อเสนอของปลัดกรุงเทพมหานคร นางนินนาท ชลิตานนท์ ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยแก้กฎหมายเพื่อเก็บภาษีบุหรี่ท้องถิ่นให้แก่ กทม. แต่ควรจะเก็บมวนละ 9.3 สตางค์ แทนที่จะเสนอเก็บเพียง 5 สตางค์ต่อมวน เนื่องจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรตท้องถิ่นมานานแล้ว และอัตราการจัดเก็บล่าสุดเท่ากับมวนละ 9.3 สตางค์หรือ 1.86 บาทต่อซอง (บุหรี่ 20 มวน) ทั่วประเทศไทย กทม. ซึ่งมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศ จึงไม่ควรที่ภาษีบุหรี่ท้องถิ่นจะเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าจังหวัดอื่น ๆ เก็บอยู่ในขณะนี้
ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจล่าสุด พ.ศ. 2554 กทม. มีผู้สูบบุหรี่ซิกาแรต 9.3 แสนคน เฉลี่ยสูบคนละ 11.2 มวน/วัน จะคิดเป็น 10.4 ล้านมวนต่อวัน หรือ 52 ล้านซองต่อวัน ซึ่งหาก กทม. เก็บภาษีบุหรี่ท้องถิ่นมวนละ 9.3 สตางค์หรือซองละ 1.86 บาทต่อซอง จะทำให้มีรายได้จากภาษีส่วนนี้ 0.967 ล้านบาทต่อวันหรือ 353 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อย เนื่องจากมีประชาชนในปริมณฑลเข้ามาใช้ชีวิตใน กทม. ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็จะซื้อบุหรี่ใน กทม.เป็นประชากรที่ซื้อบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากประชากรของ กทม. เอง การเก็บภาษีท้องถิ่น กทม.ซองละ 1.86 บาท เปรียบเทียบกับนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เก็บภาษีบุหรี่มหานครนิวยอร์ก ซองละ 1.5 ดอลลาร์ เพิ่มเติมจากภาษีรัฐนิวยอร์กซองละ 4.35 ดอลลาร์ และภาษีรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 6.85 ดอลลาร์ และราคาขายปลีกบุหรี่ต่อซองเฉลี่ยเท่ากับ 10.8 ดอลลาร์ นับว่าภาษีบุหรี่ซิกาแรตที่จัดเก็บใน กทม. ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ และสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งนอกจากจะทำให้ กทม. มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนางานด้านต่าง ๆ แล้ว ยังทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงด้วย
- 1 view