กระทรวงสาธารณสุขหาทางออกให้ 'พนักงานลูกจ้างชั่วคราว' เล็งออกระเบียบ พนง.กสธ. จ่ายเงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า เพิ่มสิทธิและสวัสดิการเพียบ เริ่ม 1 มกราคม 2556
กรณีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 17,000 คนทั่วประเทศ เรียกร้องให้ สธ.บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดเป็นข้าราชการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีงบประมาณ 2555 แต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวในเวทีสาธารณะ "วิกฤตพยาบาล : ระดมปัญญาร่วมหาทางออก" ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ว่าปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวในสังกัด สธ.มีทั้งสิ้น 76,000 คน รวม 21 สาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ธุรการ บัญชี
"จากการหารือต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการบรรจุเป็นข้าราชการ และการปรับเปลี่ยนสถานะพนักงานลูกจ้างชั่วคราว โดยล่าสุดได้พูดคุยในระดับนโยบายร่วมกับรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินกำลังคนที่ สธ.ขาดแคลนอย่างแท้จริงว่ามีสาขาวิชาชีพใดบ้าง จำนวนเท่าใดคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 31 ตุลาคมนี้" นพ.สุพรรณกล่าว และว่า ในส่วนที่ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ จะปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพนักงาน กสธ. ซึ่งจะออกเป็นระเบียบ สธ. ในส่วนของเงินบำรุงปีละ 1,700 ล้านบาท ใช้งบกลางเป็นหลักและให้เข้าไปอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวส่งตรงไปยังหน่วยบริการ เพื่อนำไปจ้างเป็นพนักงาน กสธ. คาดว่าจะร่างระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มผลักดันระเบียบในเดือนธันวาคม จากนั้นจะดำเนินการบรรจุข้าราชการและปรับเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงาน กสธ. ในวันที่ 1 มกราคม 2556 หากไม่มีปัญหาใดๆ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนมิถุนายน 2556
นพ.สุพรรณกล่าวว่า พนักงาน กสธ.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ 2.กลุ่มสนับสนุน อาทิ เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานบัญชี ฯลฯ 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ อาทิ สถาปนิก วิศวกร ฯลฯ เบื้องต้นกำหนดกติกา โดยให้พนักงาน กสธ.มีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า สิทธิประโยชน์มีทั้งลาป่วย ลากิจเหมือนข้าราชการ ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิประกันสังคม ส่วนเงินชดเชย เงินบำเหน็จบำนาญจะหักเงินเดือนร้อยละ 3-5 และหน่วยงานต้นสังกัดจะเพิ่มให้อีกเท่าตัว "สรุปคือ จะต้องของบประมาณ 2 ส่วน คือ ปีงบประมาณ 2556 ราว 4,200 ล้านบาท สำหรับขออัตรากำลังข้าราชการ 5,800 คน และกรณีพนักงาน กสธ.อีก 1,700 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าไม่มีทางที่จะได้ตำแหน่งข้าราชการพร้อมกันหมด แต่อาจทยอยได้ตำแหน่ง ซึ่งระหว่างรอนั้นก็ให้เป็นพนักงาน กสธ. มีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการ ที่สำคัญในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนออกระเบียบจะเชิญผู้แทนทั้งพยาบาล หรือตัวแทนลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดเข้าระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับระเบียบนี้ โดยจะเข้ามาเป็นคณะทำงานผ่านกองทุน กสธ. ซึ่งมี 3 ฝ่าย คล้ายๆ ไตรภาคีของคณะกรรมการประกันสังคม" นพ.สุพรรณกล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 31 ตุลาคม 2555
- 1 view