ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา ได้เริ่มมีการระบาด (outbreak) ของโรคคอตีบ ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย โดยพบในกลุ่มชาวม้งเป็นกลุ่มแรกๆ ต่อมาเริ่มแพร่กระจายเข้ามาในกลุ่มคนไทย เข้าสู่ อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย เข้าสู่ จ. เพชรบูรณ์ พิษณุโลก หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และจังหวัดอื่นๆ ตามลำดับ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัดแล้ว มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 คน การระบาดครั้งนี้จะแพร่กระจายสู่กรุงเทพฯจนทั่วประเทศหรือไม่ อย่างไร เจตนารมณ์ของบทความชิ้นนี้เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการเตรียมพร้อมทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติต่อไป โดยมีประเด็นแลกเปลี่ยนดังนี้
ประเด็นที่ 1 โรคคอตีบเป็นอย่างไร โรคคอตีบเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae สร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและหัวใจ สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อาการเริ่มต้นจาก เจ็บคอ ไข้ต่ำๆ หนาวสั่น และมีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณจมูกหรือลำคอ แพร่กระจายเชื้อได้โดยการไอ จาม รดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ การใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ถึง 2 สัปดาห์ นับจากเริ่มมีอาการติดเชื้อวันแรก
ประเด็นที่ 2 สถานการณ์การระบาดจะเป็นอย่างไร การระบาดของโรคคอตีบครั้งนี้สำหรับผู้เขียนนั้นถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เคยพบเห็นมาในชีวิตของความเป็นแพทย์ และผ่านการอบรมด้านระบาดวิทยา ทั้งๆที่โรคนี้หายไปกว่า 2 ทศวรรษ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหลายท่านแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ว่า น่าจะรุนแรงขึ้น และกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะ 1) ฤดูเทศกาลกำลังเริ่มขึ้น ตั้งแต่ งานกฐิน การท่องเที่ยวในพื้นที่ระบาดเช่น ชมบั้งไฟพญานาค เที่ยวภูหลวง ภูกระดึง ภูเรือ และ ปีใหม่ 2) ฤดูเก็บเกี่ยวไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องมีการรวมคนทำงาน 3) การเปิดภาคเรียน ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ที่นักเรียนจากที่ต่างๆจะมารวมกันอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้แนวโน้มการะบาดน่าจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
ประเด็นที่ 3 ทำไมควบคุมการระบาดไม่อยู่ แม้ว่าจะผ่านไป 5 เดือน เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น แถมยังกระจายออกไปไกลมาก สาเหตุน่าจะมีดังนี้ 1) ลักษณะของโรคนี้ ที่มีคนเป็นพาหะ สามารถแพร่เชื้อได้ 2-4 อาทิตย์ ซึ่งทางระบาดวิทยาถือกันว่าในกลุ่มโรคที่มีวัคซีน โรคนี้ควบคุมยากที่สุด 2) บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีประสบการณ์กับการวินิจฉัย รักษาและป้องกัน เพราะไม่เคยเจอ 3) วัคซีนนั้นเป็น toxoid ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่จะป้องกันสารพิษจากโรคนี้ที่จะเข้าสู่หัวใจ แม้เด็กที่ได้รับวัคซีนครบการอาจจะติดเชื้อได้ ซึ่งพบผู้ป่วยเหล่านี้ในหลายๆจังหวัดที่มีการระบาด 4) แนวทางการควบคุมโรคนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะไม่มีประสบการณ์ 5) ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ Center for diseases control (CDC) ของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้มีการฉีดกระตุ้นวัคซีนคอตีบ (dT) ในผู้ใหญ่ทุก 10 ปี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน แต่ประเทศไทยยังไม่มีการให้ภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้แก่ผู้ใหญ่ (วัคซีนคอตีบเข็มละ 4-6 บาท) ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันโรคคอตีบในกลุ่มประชาชนที่จังหวัดเลย ซึ่งถือได้ว่ามีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างดี ล่าสุดพบว่าในกลุ่มเด็กมีภูมิคุ้มกันเพียงร้อยละ 50 ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่นั้นแทบไม่มีภูมิคุ้มกันเลย เป็นข้อมูลชี้ชัดถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ประเด็นที่ 4 ทางออกควรเป็นอย่างไร การระบาดใหญ่ของโรคคอตีบครั้งนี้ เราน่าจะถือวิกฤตเป็นโอกาส ในการแก้ปัญหาต่างๆที่ซ่อนอยู่ในระบบ เช่น 1) การฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ (Immunizations for adults) ควรเป็นอย่างๆไร ควรมีวัคซีนตัวใดบ้าง ควรมีการทบทวนโดยเร่งด่วน CDC มีการแนะนำวัคซีน 10 ชนิดที่ควรฉีดให้กับผู้ใหญ่ (ตามแผนภาพที่ 1), 2) ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนอื่นๆเป็นอย่างไร มีพื้นที่ใดที่มีปัญหาบ้าง 3) ภูมิคุ้มกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนแต่ละชนิดในคนไทยเป็นอย่างไร มีกลุ่มคนกลุ่มใด หรือพื้นใดที่มีปัญหา 4) มีการให้วัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ ในต่างประเทศมีแต่บ้านเราไม่มี แถมกรมบัญชีกลางก็ไม่ให้เบิก เนื่องจากเป็นการควบคุมป้องกัน ไม่แปลกใจเลยว่า ที่จังหวัดบึงกาฬที่มีการระบาดของไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ ล่าสุด มีบุคคลากรทางการแพทย์ที่บึงกาฬติดเชื้อนี้จำนวนมาก และ 5) การรณรงค์ให้ประชาชนมีสุขบัญญัติที่ดี เช่น ใช้หน้ากากอนามัยหากเป็นหวัด ไป กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ต่อไป
แผนภาพที่ 1 การให้วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ แนะนำโดย CDC, USA
(http://www.cdc.gov/vaccines/schedules/downloads/adult/adult-schedule-easy-read.pdf)
ส่งท้าย ในปี 2558 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้ง 3 ส่วน คือ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ผ่านมาในส่วนสาธารณสุข เราเห็นแต่การเตรียมความพร้อมเพื่อจะเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical hub) ที่สร้างประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่ม แต่ภาครัฐกลับหลงลืมการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขอื่นๆ ที่เราอาจจะต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ สมองไหล แรงงานต่างด้าว ที่ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ และจะกลายเป็นรังโรคต่อไป และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
การระบาดของโรคคอตีบวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการทดสอบความพร้อมในทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางที่ดูแลนโยบาย ส่วนภูมิภาคที่ต้องรับมือสถานการณ์จริง ประชาชนที่ต้องร่วมกันรณรงค์ให้มีสุขบัญญัติที่ดี รวมทั้งเป็นบททดสอบรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่แกะกล่อง ที่เป็นหมอทั้ง 2 คน ว่าจะมีฝีมือควบคุมโรคคอตีบให้สงบได้ก่อนปีใหม่นี้หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมของประเทศไทยก่อนเข้าสู่ AEC ในปี 2558 อย่างมั่นใจ อีกแค่ 2-3 เดือน ก็รู้ครับว่าของจริงหรือของปลอม
ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 ตุลาคม 2555
- 8 views