ชาวอเมริกันที่มีปัญหาสุขภาพมาจากคนสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย พวกด้อยสิทธิกับกลุ่มที่ไม่ใส่ใจสุขภาพ คนกลุ่มแรกมักไม่สามารถซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขคุณภาพสูง ส่วนคนกลุ่มหลังมักมีปัญหาสุขภาพจากชีวิตที่สะดวกสบายขาดการออกกำลังกาย ทุกวันนี้คนอเมริกันร้อยละ 60 มีน้ำหนักเกิน ร้อยละ 26 (หรือเท่ากับ 54 ล้านคน) เป็นโรคอ้วน
ปัจจุบันชาวอเมริกันสามารถเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพผ่าน 3 ช่องทาง (คนอเมริกันส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ รัฐบาลเป็นผู้ประกัน บริษัทเอกชนผู้ว่าจ้างเป็นผู้ประกัน และซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตัวเอง
ระบบการบริการดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกามีเอกลักษณ์ของตนเอง เกือบทั้งหมดดำเนินการโดยภาคเอกชน ในแง่ดีคือ สามารถให้บริการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพสูงสุด แต่ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว
ผู้ที่ไม่สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพกับคนที่ต้องจ่ายเงินซื้อกรมธรรม์ด้วยตนเองเป็นกลุ่มคนที่ลำบากที่สุด เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่าราวครึ่งหนึ่งของครอบครัวอเมริกันที่ถูกฟ้องล้มลายในแต่ละปีมีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล
ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นภาระทั้งแก่คนไม่มีประกันสุขภาพกับรัฐบาล และเมื่อผนวกกับปัจจัยอื่น ๆ เช่นการคาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว รัฐบาลขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องหลายปี ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าในอนาคตรัฐจะแบกภาระได้หรือไม่
รัฐบาลอเมริกันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายระบบประกันสุขภาพ คิดเป็นเงิน 750 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เทียบกับคาดการณ์ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของปี 2012 ที่ 1.1-1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีสัดส่วนราวร้อยละ 15
นายโทมัส อาร์. เซฟวิ่ง หนึ่งในกรรมการโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุ (Medicare) ประมาณว่า ลำพังโครงการนี้โครงการเดียวจะใช้เงินรายได้จากภาษีอากรถึงร้อยละ 24 ภายในปี 2019 ทั้งประธานาธิบดีบารัก โอบามา กับ นายมิตต์ รอมนีย์ เห็นด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายแต่คนละวิธี ประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่า รัฐบาลกลางต้องเข้าแทรกแซง หาทางลดค่าบริการทั้งระบบ ค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีการได้รับค่าบริการหรือค่าจ้างของโรงพยาบาลกับแพทย์ โดยยึดหลักคุณภาพของการบริการแทนจำนวนคนไข้ กำหนดแนวเวชปฏิบัติหรือแนวทางรักษาที่มีคุณภาพซึ่งจะช่วยกำหนดกรอบค่าใช้จ่าย ส่วนนายรอมนีย์ เห็นความสำคัญของระบบการแข่งขันตามกลไกตลาด ต้องการให้ระบบการประกันสุขภาพมีเอกชนเข้ามาแข่งขันด้วย เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้ได้ราคาต่ำในคุณภาพสูงสุด
นโยบายของประธานาธิบดีโอบามาในเรื่องนี้ เป็นอีกนโยบายที่ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลกลางกำลังขยายขนาดของตัวเองให้เป็นรัฐบาลกลางขนาดใหญ่ กลุ่มนี้ยังเห็นว่า รัฐบาลกลางไม่ควรยัดเยียดให้ประชาชนต้องเข้าระบบประกันสุขภาพของรัฐ แต่ควรให้พวกเขามีสิทธิตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนหรือเลือกเข้าระบบของรัฐ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลกลางแสดงบทบาทดูแลสุขภาพประชาชนในลักษณะดังกล่าว
ฝ่ายที่เห็นด้วยกับระบบประกันฯ ของประธานาธิบดีโอบามา บอกว่า ระบบนี้ส่งผลดีต่อผู้มีรายได้น้อย ผู้ยังไม่ได้ซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพ แต่คนอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรให้รัฐแบกรับภาระ (เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมคือ บุคคลย่อมสมควรได้รับการบริการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุดตามกำลังทรัพย์ของตน ตรงข้ามกับแนวคิดแบบสวัสดิการนิยมที่รัฐเจียดงบประมาณพยายามช่วยทุกคนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย)
ประเด็นถกเถียงอีกหนึ่งเรื่อง คือ ระบบนี้จะยั่งยืนหรือไม่ ในภาวะที่สหรัฐ ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องหลายปีแล้ว ระบบประกันสุขภาพจะเป็นภาระต่องบประมาณกลาง ยิ่งในอนาคตจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐ จะแบกภาระดังกล่าวได้หรือไม่
คนกลุ่มนี้เห็นว่า ระบบประกันสุขภาพไม่ใช่เฉพาะปัญหาสุขภาพ ปัญหาสังคม แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่ออุดหนุนระบบประกันสุขภาพ จะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ อันหมายถึงจะส่งผลลบย้อนกลับต่อระบบประกันสุขภาพด้วย
ฝ่ายที่มองในแง่บวกจะตั้งความหวังว่า ระบบประกันสุขภาพจะสร้างสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนทำให้ประชาชนสร้างผลผลิตประชาชาติเพิ่มมากขึ้น การใช้นโยบายลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลโดยไม่กระทบต่อคุณภาพการรักษา เช่น รักษาคนไข้ตามแนวเวชปฏิบัติหรือแนวทางรักษาที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่จ่ายยาหรือตรวจเช็คร่างกายเกินความจำเป็น ส่งเสริมการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวมมากกว่า
ประเด็นสุขภาพของอเมริกันชนควรพึ่งระบบตลาดหรือรัฐสวัสดิการ จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้คนอเมริกันทั้งประเทศแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายทางความคิด ต่างสนับสนุนแนวทางของตน ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พรรคการเมือง ชาวอเมริกันทุกหมู่เหล่าล้วนต้องเผชิญความจริงต่อคำถามว่า ประเทศจะจัดสรรงบประมาณรัฐที่จำกัดอย่างไร การเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อดูสุขภาพอาจหมายถึงการลดหรือไม่เพิ่มงบประมาณด้านอื่น ยังมีคนที่เห็นว่าต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ยังมีผู้เห็นว่าไม่ควรตัดงบประมาณกลาโหม บ้างเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรกู้เพิ่มอีกแล้วเพราะจะกระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ ฯลฯ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปีนี้น่าจะเป็นประชามติต่อหลายทางเลือก รวมทั้งระบบประกันสุขภาพ สื่อมวลชนสหรัฐ เสนอข่าวการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประเด็นสำคัญหลายประเด็นรวมทั้งเรื่องระบบประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในหัวข้อที่สังคมอเมริกันถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะต่างความคิด มีเหตุผลที่เห็นด้วยกับคัดค้าน แต่เป็นความงดงามของประชาธิปไตยอเมริกัน ที่ทุกภาคส่วนของสังคมพยายามศึกษา ร่วมคิดหาทางออก แล้วเลือกด้วยการตัดสินใจที่รอบคอบ
ต้นเดือนหน้าเราจะได้คำตอบเรื่องนี้
ผู้เขียน : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด kriengsak@kriengsak.com, www.kriengsak.com
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 ตุลาคม 2555
- 101 views