'สพศท.'ระดม ขรก.กว่าพันรายเตรียมฟ้องประกาศกรมบัญชีกลาง 3 ฉบับ ขัด รธน.ละเมิดสิทธิคนไข้ ด้านปลัดคลังแจงคุมเพดานหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของจีดีพี จึงจำเป็นต้องควบคุมรายจ่าย
หลังจากกระทรวงการคลังมีหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ 3 ฉบับ คือ1.การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟตหรือยารักษาอาการข้อเสื่อม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิข้าราชการต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพียง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรคเรื้อรัง มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2555 และ 3.การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่ายมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโสและพล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ผู้ประสานงานชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการเข้าร้องเรียนคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางระงับเรื่องดังกล่าว
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์สังกัดโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นข้าราชการคนหนึ่ง เห็นว่าประกาศทั้ง 3 ฉบับของกรมบัญชีกลาง ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีการสอบถามหรือทำประชาพิจารณ์ความคิดเห็นการยอมรับใดๆ จากผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการเลยทั้งๆ ที่ประกาศเหล่านี้ส่งผลโดยตรง แต่กลับส่งตรงให้หัวหน้าหน่วยราชการหรือโรงพยาบาลโดยให้แพทย์ไปแจ้งกับผู้ป่วยเอง ตรงนี้เรียกว่าโยนภาระ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ยิ่งประกาศที่มีผลโดยรวมคือกรณีการระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ โดยระบุเป็นข้อ A B C D E และ F โดยหากเหนือจากเหตุผลที่กำหนดจะเข้าข่ายข้อ F คือ หากผู้ป่วยต้องการยานอกบัญชียาหลัก ต้องจ่ายเงินเอง
พญ.ประชุมพรกล่าวว่า เหตุผลแต่ละข้อก็จะไม่ชัดเจน ไม่อิงถึงความเป็นจริง อย่างข้อ A เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ยกตัวอย่าง ไอเรื้อรัง อาจมาจากยาหรือจากโรคบางโรคมีผลต่อการดำเนินชีวิต แบบนี้ไม่เข้าหรือไม่ หรือข้อB ผลการรักษาไม่บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าได้ใช้ยาในบัญชียาหลักฯ ครบแล้วก็ตาม ต้องถามว่าแบบนี้แสดงว่าต้องให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงก่อนหรือไม่ เป็นการเสียโอกาสการรักษาหรือไม่การทำเช่นนี้รวมถึงการห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต ทั้งที่ควรมีข้อกำหนดว่าใช้ได้กี่เดือนแต่กลับห้ามเด็ดขาด แบบนี้ถือว่าลิดรอนสิทธิข้าราชการชัดๆ และยังบีบบังคับแพทย์ให้ทำตามอย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตามก็จะเรียกเงินคืนทั้งหมดของรายการยานั้นๆ แบบนี้ยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้น ตนในฐานะข้าราชการคนหนึ่งและข้าราชการในวิชาชีพแพทย์อีกจำนวนมาก รวมไปถึงข้าราชการตำรวจ ทหาร เบื้องต้นได้เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ผ่านอีเมล์ พบว่ามีประมาณ 1,000 คน เตรียมจะยื่นฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยขอให้ระงับเรื่องดังกล่าวเสีย
"ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารืออีกครั้งว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เพราะมีคนเตือนว่าข้าราชการฟ้องข้าราชการไม่ได้ แต่พวกเรามองว่าเป็นสิทธิพึงทำได้ เนื่องจากเมื่อข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิย่อมมีสิทธิตามเงื่อนไขและตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.51 ระบุชัดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ดังนั้นถือว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังละเมิดจริงๆ เรื่องนี้มีทางออกง่ายๆ เพราะเดิมทีกรมบัญชีกลางไม่ได้ใช้วิธีการเบิกจ่ายแบบทุกวันนี้แต่ใช้วิธีให้ผู้ป่วยข้าราชการสำรองจ่ายก่อนและนำใบเสร็จไปเบิก ก่อนหน้านั้นเงินค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่พอเปลี่ยนระบบก็พุ่งเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ถามว่าถ้าต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย ทางที่ดีคือต้องยกเลิกใช้ระบบเบิกจ่ายตรง และใช้ระบบจ่ายก่อนเบิกทีหลังแทน" พญ.ประชุมพรกล่าว
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบาย 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรคเรื้อรัง ว่าประเด็นนี้สธ.เคยแย้งไปในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่มีนายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรี สธ.เป็นประธานเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุถึงปัญหาเนื่องจากหากเปิดให้ลงทะเบียนโรงพยาบาล 1 แห่งต่อ 1 โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ย่อมไปเลือกโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะกระทบต่อระบบบริการ คนจะไปกระจุกตัวทำให้แออัด โดย สธ.ต้องการให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่รุนแรงรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าอาจต้องถามไปยังกรมบัญชีกลางถึงประเด็นดังกล่าว
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีการห้ามใช้ยากลูโคซามีน ว่าจะกลับไปพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก หากมีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็จะทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีหน้าที่แจ้งกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้าส่วนราชการในฐานะผู้รักษาพยาบาลขณะที่ส่วนราชการจะเป็นต้นสังกัดข้าราชการจะเป็นฝ่ายออกระเบียบปฏิบัติ เกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
นายอารีพงศ์กล่าวว่า นโยบายการควบคุมค่ารักษาพยาบาลเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการควบคุมค่าใช้จ่ายประจำไม่ให้เกิน70% ของงบประมาณรายจ่าย ปัจจุบันอยู่ที่72-73% เพราะที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าระบบสวัสดิการอื่นๆ ทั้ง กองทุนประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค
"การควบคุมรายจ่ายรักษาพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวินัยทางการคลัง เพราะในอนาคตจะมีการกู้เงินอีกมากเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราก็มีเป้าหมายจะคุมเพดานหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงจำเป็นต้องควบคุมรายจ่ายที่สูงเกินจริง แต่ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของข้าราชการลง เพราะจากผลศึกษาของแพทย์เอง ก็พบว่าหากเทียบเคียงประสิทธิภาพยาที่ผลิตในประเทศกับยานอกแล้วไม่ต่างกัน แต่ราคาแตกต่างกันมาก แต่ก็ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ด้วย หากแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยานอกให้แพทย์ลงความเห็นร่วมกัน 3 คน ก็ยังสามารถเบิกยาดังกล่าวได้" นายอารีพงศ์กล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 3 views