เครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับสปสช.จัดงาน หนึ่งทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ 24-26 ต.ค.นี้ ที่มสธ. เพื่อจัดทำข้อเสนอพัฒนาการเงินการคลังหลักประกันสุขภาพระบบเดียว ชี้ 10 ปีที่ผ่านมารัฐใช้เงินกับ 3 กองทุนสุขภาพไม่ถึง 4 % ของจีดีพี เป็นการใช้ภาษีรับผิดชอบต่อประชาชน หากจะมีการร่วมจ่ายได้ก็ต่อเมื่อรัฐจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ และจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดินให้มีประสิทธิภาพก่อน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ในฐานะคณะทำงานเครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนระบบสุขภาพ กล่าวว่า ในวันที่ 24-26 ตุลาคม นี้ คณะทำงานเครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับสปสช. จัดงาน หนึ่งทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อสรุปผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ และจัดทำข้อเสนอเรื่องระบบการเงินการคลังด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นระบบเดียว มาตรฐานเดียว เพื่อชี้ทิศให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการเงินการคลังแบบรวมหมู่ การหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้มีการใช้เงินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐใช้เงินทั้ง 3 กองทุนสุขภาพไม่เกิน ร้อยละ 4 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นการรับผิดชอบของระบบภาษีทางตรงทางอ้อมของประชาชน การร่วมจ่ายควรดำเนินการเมื่อประเทศไทยจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายรายได้ และการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น เครือข่ายประชาชนต่างๆ ได้ร่วมรณรงค์ให้มีการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนเกิดเป็น พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีเจตนารมณ์สำคัญที่ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานเดียวกัน อย่างเสมอภาค เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม การมีส่วนร่วมของประชาชน คือร่วมสร้างระบบตั้งแต่การร่วมร่างกฎหมาย ร่วมวางแผนพัฒนาระบบ ร่วมบริหารระบบทั้งรูปแบบการเข้าเป็นคณะกรรมการในระดับต่างๆ ร่วมดำเนินการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบ และร่วมติดตามประเมินผล ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองระบบให้มั่นคง ยั่งยืน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ การมีส่วนร่วมประชาชนทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของระบบ แม้ว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ถือเป็นความท้าทายต่อไปของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นระบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นธรรม ยั่งยืน และมีระบบการเงินการคลังที่เหมาะสม ไปรอดได้ในสังคมไทย
“การจัดงานครั้งนี้ จะมีการอภิปรายเรื่องการเงินการคลังระบบหลักประกันสุขภาพ การสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนชายขอบที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมกันนี้จะมีการวิเคราะห์ข้อเสนอทางนโยบาย และการดำเนินการเพื่อบรรลุข้อเสนอทางนโยบายของประชาชน เพื่อการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในทศวรรษต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สปสช. โทร. 02-1414000 หรือ www.nhso.go.th” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
- 1 view