เวลานี้ ใครๆ ในทุกวงการทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า การศึกษา ด้านสังคม ภาคบริการ ต่างก็นับถอยหลังเข้าไปสู่วันที่ 1 มกราคม 2558
ซึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะขับเคลื่อนกลไกที่ถูกวางไว้ไปสู่เป้าหมายข้างหน้าอย่างเต็มตัว หลังจากที่ถูกผู้นำประเทศสมาชิกเร่งรัดให้ร่น เวลาเร็วขึ้น 5 ปี ข้อตกลงหลายเรื่องจึงต้องถูกหยิบยกขึ้นมากำหนดมาตรการให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งๆ ที่สถานะพื้นฐานของประเทศสมาชิก ก็ยังมิใช่ว่าจะใกล้เคียงหรือเหมือนชนิดที่เข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ในเวลาอันรวดเร็วๆ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ว่าการรวมตัวกันเป็นหนึ่งประชาคมอาเซียน จะได้ทั้งโอกาสในการแข่งขันกับประชาคมอื่นของโลก และสร้างประโยชน์ให้ประชาคมโดยรวม แต่ภายในประชาคมเองก็ยังคงต้องศึกษาถึงความได้เปรียบเสียเปรียบจากฐานขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อรับมือหรือหาโอกาสรุกให้ประเทศตนได้ประโยชน์มากที่สุด หรือหาทางรับมือให้ตนเองเสียประโยชน์น้อยที่สุด
อาเซียนที่กำลังจะมาถึงวันนี้อาเซียนก็ยังคงเป็นเสมือนช้างตัวใหญ่มหึมา ที่ไม่มีใครจะมองได้ทะลุปรุโปร่ง แต่ละภาคส่วนเองก็เสมือนอวัยวะส่วนย่อยที่ยังไม่อาจทำนายหน้าตาได้เลย บางเรื่องก็ก้าวล้ำไปมากแล้ว ขณะที่องค์กรคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมิได้รับรู้ยุทธศาสตร์ของประเทศหรือภาคส่วนของตนเองเลยแม้แต่น้อย เสมือนยิ่งมองกว้างทั้งตัวมากเท่าไรก็เห็นแค่ปลายงาข้างซ้ายเท่านั้น อย่าว่าแต่เห็นดวงตาหรือปลายงวง-ปลายหางเลย
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาล ต้องกำหนดให้มีหน่วยงานยุทธศาสตร์อาเซียนภาพรวม ทำหน้าที่ติดตามผลักดันให้กลไกของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรในกำกับ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่าง คืบหน้า มิใช่อยู่กับที่หรือถอยหลัง
เปิดเสรีบริการ 7 วิชาชีพ (3 วิชา ชีพด้านสุขภาพ)
ตามเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ทำให้วิชาชีพด้านสุขภาพอย่างน้อยสามสาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ต้องถูกเร่งรัดให้ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี
แต่ทั้งสามสาขานี้มีความพร้อมพอเพียงที่จะรับแรงกดดันที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่?
ข้อตกลงทั้งหลายที่ผ่านมา สมาชิกของวงการวิชาชีพผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบได้รับรู้
และวิพากษ์วิจารณ์ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะอะไรกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในภาครัฐหรือเปล่า?
ถ้ายัง หรือยังไม่ทำให้พอเพียง จะทำอีกไหม? เมื่อไร? อย่างไร?
ผลการสัมมนาวิชาการเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่อง การเตรียม ความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี พ.ศ.2554 ซึ่งมีสาระที่เกี่ยวกับข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายบริการสุขภาพ และแรงงานฝีมือด้านสุขภาพ ที่แม้จะพบในด้านดีว่าบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยมีจุดแข็ง มาตรฐานการบริการระดับสากล ราคาเป็นธรรม มีบริการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ (Medical care) สุขภาพ (Health care)
ผู้สูงอายุ (Aging care) และความงาม (Beauty care) ก็ตาม
แต่การต้องยอมให้มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้น ในบริการด้านสุขภาพของนักลงทุนอาเซียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2556 ย่อมก่อปัญหาผู้ประกอบการไทย ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการรุกตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศที่มีอำนาจการต่อรองสูง รวมทั้งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคบริการที่เกี่ยวข้องของไทยก็อาจถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนที่เข้ามาลงทุนในไทย 2 อันดับแรกมากยิ่งขึ้น
ทั้งโดยที่อุปสรรคที่เคยมีอยู่ลดลง ย่อมช่วย ให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ ขยายขอบเขตบริการครอบคลุมเครือข่าย พื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น อาจด้วยการปรับตัวเข้ามาเป็นพันธมิตร หุ้นส่วนควบรวม หรือซื้อกิจการ ทั้งด้วยความพร้อมด้านเงินทุน ความรู้ วิธีการ (Knowhow) การจัดการ เทคโนโลยี ของผู้ประกอบการธุรกิจจากต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
ขณะที่ทั้งภาควิชาชีพ, ผู้ประกอบการ SMEs, และพนักงาน ยังขาดความรู้ความเข้าใจในกลไกการค้าเสรี และการปรับตัวเตรียมพร้อมในการปรับตัวส่วนการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบวิชาชีพที่มี "ข้อตกลงยอมรับร่วม" (Mutual Recognition Arrangement : MRA) โดยกำหนดคุณสมบัติที่จะไปจดทะเบียนประกอบวิชาชีพใน
ประเทศสมาชิกได้ แต่...ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศนั้น ในทางกลับกันธุรกิจ SME ด้านสุขภาพของไทย มีโอกาสจ้างแรงงานต่างชาติที่สามารถรองรับความต้องการของธุรกิจได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ เราก็ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ เช่น ขาดทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศสมาชิก เช่น ภาษาบาฮาซา การมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ผิดและถูกกฎหมายที่เข้ามาอยู่ก่อนในประเทศไทย ส่งผลต่อความมั่นคงและวิถีชีวิตคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดการแข่งขันในตลาดแรงงานของไทยทวีความรุนแรงขึ้น มีการช่วงชิงตำแหน่งงานจากผู้มีทักษะภาษาที่ดีกว่า อาจมีบางส่วนที่เคลื่อนย้ายไปยังบริษัทต่างประเทศในไทย หรือบริษัทในต่างประเทศมากขึ้น เพราะค่าตอบแทนแรงงานในประเทศไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย อาจมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่มีค่าบริการสูงกว่า
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็ไม่มีข้อจำกัดที่จะให้บริการข้ามพรมแดน (Cross-border supply) ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ การที่คนไทยจะไปรับการรักษาในต่างประเทศ (Consumtion abroad) หรือจะรับ
ตัวผู้ป่วยชาวต่างประเทศเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย ข้อจำกัดที่แตกต่างกันของสมาชิกอาเซียนแม้จะมีการกำหนดเงื่อนเวลาเปิดเสรีตามที่กำหนดไว้ แต่ด้านกิจการบริการสุขภาพ การเปิดสถานพยาบาลของชาวต่างชาติ (ทั้งการแพทย์และทันตกรรม) ในประเทศไทย เดิมมีกฎหมายบัญญัติมิให้ถือหุ้นเกินร้อยละ 49 บริการสาขาสุขภาพ ถือเป็นสาขาบริการเร่งรัด (Priority Integration Sector: PIS)
เงื่อนไขอื่น เช่น ด้านบริการทันตกรรม ทันตแพทย์จากประเทศในกลุ่มสมาชิก สามารถให้บริการในประเทศสมาชิกได้ โดยต้องมีองค์กรควบคุมวิชาชีพ PDRA = Professional Dental Regulatory Authority (เช่นเดียวกับทันตแพทยสภาของไทย) ผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติ การศึกษา การศึกษาต่อเนื่องตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่มีประวัติละเมิดจรรยาบรรณ หรือข้อกำหนดที่องค์กรควบคุมวิชาชีพกำหนด ต้องลงทะเบียนต่อองค์กรควบคุมวิชาชีพในประเทศนั้นๆ สถานพยาบาลด้านทันตกรรมเปิดได้เพียงคนละ 1 แห่งเท่านั้น และผู้ขออนุญาตต้องมีถิ่นพำนักในประเทศที่เปิด ประเด็นต้องพิจารณาต่อไปคือ ความเป็นผู้ชำนาญการ Specialist จะมีในประเทศสมาชิกด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากหลายประเทศ มีเฉพาะใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น
เปิดเสรีสาขาวิชาชีพอื่นเมื่อหันไปดูสาขาวิชาชีพอื่นๆ เช่น วิศวกรรม สถาปนิก ช่างสำรวจ และบัญชี ก็ยังได้รับข้อคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ต่างส่งสัญญาณเห็นพ้อง
ว่าใครก็ตามที่เป็นเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพรองในเรื่องนี้ ต้องโหมศึกษาและทำความเข้าใจ ผล กระทบที่จะเกิดขึ้น โอกาส หรือแรงคุกคามที่มี และสื่อสารให้มากกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า มิเช่นนั้นจะเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ของเจ้าภาพหลัก (ในกระทรวงพาณิชย์) บางท่าน ถึงกลับเขียนวิจารณ์วงการวิชาชีพหนึ่งว่า เพราะมีวงการวิชาชีพแบบนี้ ถึงได้เป็นตัวถ่วงทำให้ประเทศชาติล้าหลัง อยู่ทุกวันนี้
ยังไม่ทันจะไปแข่งกับใคร ก็มาฟาดปากกันเองแบบนี้ ต่อให้รู้เขารู้เรา ก็แพ้เขาวันยังค่ำ
เอาเป็นว่า เจ้าภาพหลักต้องอย่าคิดข้างเดียวว่า มีแต่ตนเองเท่านั้นที่กำลังจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ใครไม่ทำหรือยังตั้งข้อสังเกตคล้ายกับจะซักค้านอยู่กลับกลายเป็นตัวถ่วง คิดอย่างนี้ไปต่อไม่ได้แน่ ก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจ และเปิดทางร่วมมือกันศึกษาประเด็นเหล่านั้นให้มากขึ้นตัวอย่างเช่น นโยบาย Medical Hub ที่มีการยกตัวอย่างเครือโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ มีตัวเลขการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น
ทุกปี แท้จริง สถานพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับหรือมีนโยบายใดๆ จากภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนบริการทางการแพทย์ระดับโลกอย่างเป็นระบบเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน กลับถูกมองว่าเป็นตัวดึงบุคลากรออกจากระบบราชการ (โดยเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุข) แทนที่จะมอง "ภาพรวมผลประโยชน์ของชาติ" เป็นภาพเดียวกัน กลับมองว่าเมื่อเป็นเอกชนต้อง ทำกำไรและเอาเปรียบรัฐอยู่เสมอ
ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายผ่านกระทรวงการคลัง สนับสนุน "ความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน" ในการให้บริการสาธารณะทุกด้าน กำลังเตรียมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 3P หรือ PublicPrivate Partcipation Law อยู่ในขณะนี้ แต่กลไกและกฎระเบียบบางเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขกลับออกมาปิดกั้น
จุดเด่นและข้อดีที่ได้จากความร่วมมือด้วยซ้ำ
ข้อคิดเห็นจากคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา : ตัวอย่างวิชาชีพทันตกรรม
เมื่อปี 2551 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เคยให้ความสนใจต่อปัญหาทันตสาธารณสุข และปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางทันตสุขภาพ ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของการกระจายกำลังคนทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เท่าเทียมกันในเขตเมืองและชนบท ก่อให้เกิดปัญหาระบบบริการและการประกันสุขภาพช่องปาก จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาติดตามผลการผลิตและการใช้บุคลากรทางทันตสุขภาพขึ้น ผลของการศึกษาในครั้งนั้น ได้รับการรับรองและจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยได้ระบุข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ไว้ในข้อเสนอข้อที่ 8 ดังนี้...
ปัญหาด้านข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพทันตแพทย์ของอาเซียน
จากแนวโน้มสถานการณ์ด้านความต้องการใช้บริการด้านทันตกรรมที่มีคุณภาพดี และความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีทางด้านทันตกรรมของไทย ในสถานการณ์ที่เห็นในปัจจุบันของประเทศภายใต้กรอบการค้าเสรี (Free Trade Arae : FTA) และกระแสโลกาภิวัตน์ในโลกไร้พรมแดน
ของระบบทุนนิยม อาจทำนายในเชิงผลลบที่จะเกิดขึ้นได้ว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีทางทันตกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณการใช้ จำนวน และความหลากหลายส่งผลให้การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต
ในส่วนของอาเซียนกับจำนวนประชากร (ประชาคมอาเซียน) จะเห็นได้ว่าประชากร 400-500 ล้านคน มาจาก 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับกลาง ดังนั้น พอประมวลสรุปได้ว่า หากกรณีซึ่งเมื่อเกิด MRA จะมีปัญหากับไทย 2 ด้าน คือเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยและเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศในภูมิภาค ที่จะมีการแย่งการใช้บริการทันตแพทย์ เกิดการเคลื่อนย้ายของทันตแพทย์ไปสู่พื้นที่ ที่ต้องการใช้บริการมาก และรายได้ดี
ผลกระทบ Medical Hub ต่อการจัดบริการสุขภาพช่องปาก
ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น World Health Services Center โดยเริ่มจากการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของอาเซียน และได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,600 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2547-2551) พัฒนา จุดขายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 3 ด้าน คือ เน้นความเป็นเลิศในการบริการทาง การแพทย์ มีธุรกิจสปา บริการนวดแผนไทย และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสมุนไพร
ผนวกกับข้อตกลง FTA และ MRA ที่ทำให้เกิดการเข้ามาใช้บริการของชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและต้องการได้บริการที่ดีราคาถูก ทำให้นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพช่องปากต่อประชากรไทยที่พบ คือ
1) การต้องรอ หรือเข้าคิวในการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพราะมีจำนวนคนรับบริการที่เพิ่มขึ้น
2) การเข้าไม่ถึงบริการในกลุ่มโรคที่ไม่มีความเร่งด่วน โดยอ้างเหตุผลบุคลากรไม่เพียงพอ เช่น สัดส่วนจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการในระบบอาจจะน้อยลงเพราะต้องให้บริการชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น และ
3) การบริการที่มีสองมาตรฐานในการรักษาพยาบาลทั้งปัญหาการตรวจหรือการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินความเป็นจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหางบประมาณด้านสุขภาพ และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นบริการชั้นสองมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาผลกระทบต่อการบริการและกำลังคนที่ชัดเจนเพื่อพัฒนามาตรการลดผลกระทบดังกล่าว
คณะอนุกรรมาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งมีเขตการค้าเสรี (FTA) และการจัดทำข้อตกลงร่วมในระดับภูมิภาค (MRA) โดยได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
- ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงกฎหมาย และในเชิงข้อตกลงระหว่างประเทศกับอาเซียนที่จะมีผลกระทบต่อวิชาชีพทันตแพทย์ในอนาคตข้างหน้า เช่น การขาดแคลนบุคลากรในภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสาธารณสุข และการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข ประเด็นค่าใช้จ่ายทางทันตสุขภาพในบริการด้านต่างๆ ที่กระทบต่อค่าใช้จ่ายภาครัฐ และค่าใช้จ่ายครัวเรือน เป็นต้น
- ความรับรู้ของสมาชิก การมีส่วนร่วมของสมาชิก การตัดสินใจที่จะลงนามในประเด็นที่เกี่ยว
เนื่องในภูมิภาคและการประเมินเป้าหมาย และผลกระทบโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วน กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาค
ภาพรวมไม่ชัด ยุทธศาสตร์ยังไม่มี กลไกรัฐ-เอกชนยังขัดกัน
นั่นคือหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันระหว่างประเทศสมาชิกที่ผ่านไปแล้ว แต่ที่สำคัญก็คือ ประชาคมวิชาชีพทั้งสามสาขาในประเทศไทยเอง ได้ปรึกษาหารือ ถกเถียง วิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างแตกฉานรอบด้านเพียงพอหรือยัง ที่ผ่านมา แม้แต่กลไกตัวแทนวิชาชีพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แต่ก็ยังขาดการทำ "ประชาคม" หรือ การมีส่วนร่วมของสมาชิกวิชาชีพ หรือองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง
หน่วยงานภาครัฐเอง ทั้งจากสายกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิชาชีพคือสาธารณสุขก็ยังให้ข้อมูลกับผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะในภาครัฐน้อยมาก ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพภาคเอกชนก็ได้รับทราบข้อมูลผ่านทางองค์กรของตน เช่น โรงพยาบาลเอกชนที่สังกัด ซึ่งก็เป็นที่ทราบกัน ดีว่า มีโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศก้าวไกลไปทำตลาดต่างประเทศแล้วจนทำให้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สนับสนุนนโยบาย Medical Hub อย่างเต็มที่ ขณะที่ภาคการเมืองโดยรัฐบาลก็ประโคมข่าวแต่กลไกภายในกระทรวงสาธารณสุขเองได้วางกลยุทธ์เตรียมพร้อมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือยัง?
เท่าที่ติดตามมาถึงจะมีการจัดการประชุมสัมมนาภายในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ก็มีภาพรวมที่ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม ไม่สามารถบอกได้ว่า รัฐจะทำอะไร? เอกชนจะทำอะไร? ภาควิชาการ สถานบันการศึกษาจะทำอะไร? ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นอย่างไร? กระทรวงสาธารณสุขในฐานะกลไกหลักที่จะรองรับนโยบายนี้เป็นอย่างไรบ้าง? หน่วยงานองค์กรของแต่ละสาขาวิชาชีพจะต้องไปขับเคลื่อนอะไรกันบ้าง?
ถึงวันนี้ยังไม่แน่ใจเลยว่าบริการและวิชาชีพสุขภาพของไทย พร้อมรับเออีซีจริงหรือ?
--มติชน ฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 32 views