นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยถึงการหารือกับธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อไปทำงานต่าง ประเทศของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า เบื้องต้นได้ข้อสรุปในการปล่อยกู้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.แรงงานไทยที่กู้เงินกับธนาคารกรุงไทยจะต้องให้นายจ้างโอนเงินผ่านธนาคารที่เป็นเครือข่ายของธนาคารกรุงไทยในประเทศนั้น เพื่อผ่อนชำระหนี้เงินกู้ของแรงงาน
2.แรงงานไทยที่กู้เงินกับ 4 ธนาคารที่เหลือ จะต้องผ่อนชำระหนี้เงินกู้เองโดยการโอนเงินผ่านธนาคารในต่างประเทศทุกเดือน
ประธานบอร์ด สปส. กล่าวอีกว่า สำหรับวงเงินปล่อยกู้ได้ให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการเตรียมสำรองไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินกองทุนประกันสังคมที่ สปส.ฝากไว้กับธนาคารและปัจจุบันธนาคารจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ สปส.ร้อยละ 2.5-3 แต่เมื่อธนาคารเข้าร่วมโครงการ สปส.จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ธนาคารเหลือร้อยละ 1 เพื่อช่วยให้ธนาคารมีต้นทุนในการดำเนินโครงการ
"เบื้องต้นคาดว่าจะปล่อยกู้ให้แก่แรงงานไทยรายละไม่เกิน 100,000 บาท ผู้ใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ส่วนแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมระยะหนึ่งก่อนจึงจะเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ โครงการนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการพิจารณา ของแต่ละธนาคาร ซึ่งมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ 2 รูปแบบ ได้แก่ กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5-14 ต่อปี กรณีใช้บุคคลค้ำประกันเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7-20 ต่อปี ทั้งนี้จะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปส.ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากได้รับความเห็นชอบคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ในเดือนธันวาคมนี้หรืออย่างช้าเดือนมกราคม 2556" นพ.สมเกียรติกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 6 views