ร่างแผนพัฒนาประชากร ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 - 2559) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทย ซึ่งมีความกังวลว่าอนาคตสังคมไทยเตรียมจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงสร้างกำลังแรงงานของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนข้าราชการ
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจ" ถึงแผนการขยายอายุเกษียณราชการ เพื่อรองรับกับโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ว่า ขณะนี้อายุเฉลี่ยของข้าราชการของไทยอยู่ที่ประมาณ 45 ปี ส่วนมากจะอยู่ในสังกัดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ การขยายอายุเกษียณจำเป็นต้องทำในเฉพาะสายงานที่มีความสำคัญ ตนมองว่าในเรื่องของการขยายอายุเกษียณ ควรมีการวางแผนที่ดี ไม่เช่นนั้นในอนาคตจะขาดแคลนนักวิชาการที่เก่งๆ
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขของสศช.ระบุว่าประมาณปี 2575 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า อายุเฉลี่ยของคนไทยในอัตราการเกิดต่ำ จะทำให้เกิดสภาวะอัตราพึ่งพิงคือคนทำงานต้องเลี้ยงคนผู้สูงอายุ 2 ต่อ 1 คน เพราะโดยทั่วไปแล้วน่าจะอยู่ที่ 5 ต่อ 1 คน จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือให้มากขึ้น
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่าที่ผ่านมา ก.พ.ได้มีการขยายอายุเกษียณไปบ้างแล้ว เช่น บุคลากรในศาลและอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนอาชีพผู้สอน จึงมีการขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี โดยเป็นการขยายแบบมีเงื่อนไข ซึ่งมีการกำหนดว่าอาจารย์ที่จะขยายอายุเกษียณได้ ต้องอยู่ในสาย ก. หรือเป็นสายผู้สอน ผู้ทำวิจัย และต้องจบปริญญาเอก มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นเกณฑ์ทั่วไป และขึ้นอยู่ว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีความประสงค์ในสาขานั้นๆ
"ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เรามีมาตราหนึ่งที่พูดถึงการขยายอายุเกษียณอยู่แล้ว แต่ขยายได้เฉพาะบางสายงาน ได้แก่ สายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมายกฤษฎีกา ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งมีการขยายอายุเกษียณไป 17 ราย ใน 2 สาขานี้ ถ้าเป็นสาขาอื่นต้องขอ ก.พ.มาเป็นรายกรณีไป ขณะนี้ ก.พ.เองได้ศึกษาเรื่องนี้แล้ว ซึ่งต้องมาคิดกันแล้วว่าวันนี้เราขาดแคลนกำลังคนของข้าราชการหรือยัง ถึงเวลาที่ต้องขยายอายุเกษียณแล้วหรือยัง" นายนนทิกร กล่าว เขาบอกว่า ขณะนี้มีข้าราชการที่เกษียณอายุปีละ 4,200 คนจากข้าราชการทั้งหมด 400,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขรวมจากข้าราชการทุกกระทรวง โดยในปี 2545 รัฐบาลได้มีมาตรการลดอัตราข้าราชการลง ซึ่งถ้าข้าราชการกระทรวง ทบวงและกรมไหนจะปรับตำแหน่ง ก็จะเป็นการยุบรวมตำแหน่งล่าง เพื่อขอปรับซีในระดับสูงให้สูงขึ้น เช่น การปรับระดับซี 9 หากหน่วยงานราชการไหนต้องการปรับซีให้สูงขึ้น แต่ไม่ปรับลดตำแหน่งในระดับล่าง ก็ต้องบริหารจัดการเอาเอง หรือหากจะปรับระดับซี 9 ให้สูงขึ้นบางหน่วยงานก็อาจจะยุบรวมตำแหน่งในระดับล่าง เพื่อนำเงินเดือนของระดับล่างมาเพิ่มให้ระดับสูงก็เป็นการลดค่าใช้จ่าย จึงเกิดปัญหาการตัดตำแหน่งบรรจุไป
"การยืดอายุเกษียณในตำแหน่งผู้บริหารไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายมีข้อห้ามไว้ ส่วนตำแหน่งที่จะสามารถยืดอายุเกษียณได้ต้องเป็นตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป หรือเทียบเป็นซี9 โดยตำแหน่งที่ก.พ.ได้อนุมัติไปแล้วคือตำแหน่งวิศวกรใหญ่หรือช่างใหญ่ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้รับการต่ออายุเกษียณออกไป 2 ปี โดยในแต่ละปีก็จะมีตำแหน่งที่ยืดอายุเกษียณไม่มาก เพราะการยืดอายุจะเป็นการไปบล็อกตำแหน่งของข้าราชการที่จะขยับขึ้นมาก" นายนนทิกร กล่าว
อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยแนวทางแรกให้มีการขยายอายุเกษียณจากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี แนวทางที่ 2 คือการใช้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนที่มีมาตราหนึ่งกำหนดให้บางกลุ่มอาชีพสามารถขยายอายุเกษียณได้ เช่น สายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมายกฤษฎีกา ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า และเราควบคุมได้ เพราะจริงๆแล้วในหลายๆงาน ตนคิดว่างานที่ใช้แรงงานหรืองานที่ใช้กำลัง เช่น ข้าราชการตำรวจ ทหาร ไม่เหมาะกับการยืดอายุเกษียณ เพราะร่างกายอาจจะไม่ไหวแล้ว ส่วนสายอาชีพที่ไม่น่าจะมีอายุเกษียณเลยหรือให้ขยายอายุเกษียณต่อไป ในความเห็นส่วนตัวมองว่าสายอาชีพช่างศิลป์ เช่น ช่างสิบหมู่ ช่างฝีมือในงานพระราชพิธี และครูนาฏศิลป์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนมีอายุมาก แม้ว่าจะเกษียณไปแล้วแต่บางคนยังมาช่วยสอน ตนจึงคิดว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้สั่งสมประสบการณ์ เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถ้าต้องเสียบุคคลเหล่านี้ โดยเขายังสามารถทำงานต่อได้ ไม่มีปัญหาด้านสายตา หรือปัญหาสุขภาพเขาก็จะสอนคนรุ่นหลังให้สืบทอดงานศิลป์ต่อไปได้
"ขณะนี้เรามีพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการที่สามารถให้บางกลุ่มอาชีพขยายอายุเกษียณได้ แต่ต่อไปอาจจะมีอาชีพอื่นๆเพิ่มขึ้น ซึ่ง ก.พ. กำลังศึกษาว่าจะมีอาชีพใดบ้างที่ควรค่าแก่การขยายอายุเกษียณ และก็จะมาดูเรื่องการบริหารจัดการบุคคลที่ขยายอายุเกษียณว่าเขาควรจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร เช่น เรื่องของบำเหน็จบำนาญ ก็ต้องดูว่าจะมีระบบการชดเชยให้เขาได้อย่างไรในแง่ของคนทำงาน เช่น เมื่ออายุครบ 60 ปีเขาจะยังไม่ได้บำเหน็จบำนาญ100 % แต่สำหรับผู้ที่ทำงานต่อ หรือขอขยายอายุเกษียณก็จะยังได้ขึ้นเงินเดือนต่อไป ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ ให้ข้าราชการได้ประโยชน์ที่สุด"นายนนทิกร กล่าว
นายนนทิกร กล่าวว่าขณะนี้ ก.พ.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อดูว่าอาชีพใดควรได้รับการขยายอายุเกษียณ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความขาดแคลนในวิชาชีพนั้นๆด้วย อย่างเช่น สายงานแพทย์ และสายงานนักกฎหมายกฤษฎีกามีตัวเลขชัดเจนว่าไม่สามารถสร้างบุคลากรได้ทัน แต่สายอื่นๆยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าขาดแคลน เพราะปัญหาหนึ่งที่มักมีการพูดถึงหลักจากการต่ออายุเกษียณคือการไปบล็อกตำแหน่ง ผู้ที่จะขึ้นมาตำแหน่งข้างบนก็ถูกบล็อก คนข้างล่างก็ขึ้นไม่ได้ และก็จะหมดกำลังใจ
ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องมีการศึกษาให้ละเอียด ถ้าจะทำอาจจะต้องทำให้ลักษณะงาน หรือตำแหน่งงานที่ไม่ไปถูกบล็อกด้วยตำแหน่งข้างบน เช่น เปิดตำแหน่งทางวิชาการ หรือสายอาจารย์ คือทุกคนสามารถเข้ามาในตำแหน่งใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องรอตำแหน่งเก่าว่าง แต่ถ้าทำอย่างนี้ก็จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับภาครัฐทันที
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวด้วยว่าการจะรับข้าราชการบรรจุใหม่ ก็ต้องดูจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุออกไปเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีการบรรจุประมาณ 4,000 คนต่อปี และในระหว่างปีก็จะมีคนโอนย้ายและลาออก ร่วมแล้วเกือบ 10,000 คนต่อปี ส่วนบางกระทรวงยังไม่มีการบรรจุ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ยังไม่มีการบรรจุข้าราชการพยาบาล ก็เพราะเก็บตำแหน่งระดับล่างไว้ เพื่อเอาไปปรับตำแหน่งบน โดยตัวเลขที่มีการขอเพิ่มอัตราคือ 70,000 คน ซึ่งกระทรวงการคลังบอกว่าถ้าจะรับคนเพิ่มทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณถึง 14,000 ล้านต่อปี และในปีต่อๆไปวงเงินก็จะเพิ่มมากขึ้น
"ที่ยังไม่บรรจุ'ข้าราชการพยาบาล เพราะต้องเก็บตาแหน่งล่างเอาไปปรับตาแหน่งบน"
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 ตุลาคม 2555
- 19 views