อาจเป็นข่าวไม่สู้ดีสำหรับผู้ป่วยอาการข้อเสื่อมที่ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจาก "กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" เพราะนับจากวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป จะไม่มีสิทธิเบิกค่า "ยากลูโคซามีนซัลเฟต" ได้อีก เนื่องเพราะกระทรวงการคลังมีหนังสือด่วนที่สุดถึงหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต และห้ามแพทย์ออกหนังสือรับรองให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ใช้ยาตัวดังกล่าวและนำไปเบิกค่ายาจากหน่วยงานต้นสังกัด
นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 หากผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟต จะต้องจ่ายเงินเอง!!!
ประกาศนี้สร้างความสะเทือนใจให้กับกลุ่มข้าราชการที่ต้องใช้ยานี้ไม่ใช่น้อย และล่าสุด ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยเตรียมจะนำเรื่องดังกล่าวไปเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมประจำปีที่โรงแรมรอยัล คลิฟ พัทยา ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคมนี้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ ประเด็นห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนฯส่งผลให้สมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส นำโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคม ออกมาท้วงติงว่าถือเป็นการ "ละเมิด" สิทธิข้าราชการ และสมาคมข้าราชการพลเรือนฯ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาดังกล่าวเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิข้าราชการต่อไป ขณะที่ พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ผู้ประสานงานชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการ และกรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย ก็เดินหน้าค้านประกาศนี้เช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าว
พล.ต.หญิง พูลศรีบอกว่า ผลจากการเข้าพบประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ล่าสุด ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการแล้ว โดยจะมีการเชิญผู้แทนทั้งจากกระทรวงการคลัง แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้มาหารือร่วมกัน
พล.ต.หญิง พูลศรียืนยันว่า ชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการไม่ได้คัดค้านการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา แต่เห็นว่าวิธีการอาจยังไม่เหมาะสม โดยเสนอว่าหากจะตัดการเบิกจ่ายยานี้ควรดำเนินการในกลุ่มข้าราชการใหม่หลังวันที่กระทรวงการคลังออกประกาศเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ไม่ใช่เหมารวมข้าราชการทั้งหมด เพราะถือว่าไม่เป็นธรรมกับข้าราชการที่ป่วยด้วยอาการดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำงานมานาน แต่เงินบำนาญก็ไม่ได้มากมาย
"สิ่งที่กลัวที่สุดคือ เมื่อกรมบัญชีกลางไม่อนุญาตเบิกจ่ายยาข้อเสื่อมได้แล้ว จะมีการทยอยห้ามเบิกจ่ายในกลุ่มยาอีก 8 กลุ่มที่เหลือหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประกาศเตรียมควบคุมยาใน 9 กลุ่มที่ศึกษาพบว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ได้แก่ 1.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 2.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 3.กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 4.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
7.กลุ่มยาป้องกันกระดูกพรุน 8.กลุ่มยารักษามะเร็ง และ 9.กลุ่มยารักษาข้อเสื่อม ตรงนี้ต้องติดตามต่อไปด้วย" พล.ต.หญิงพูลศรีกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นพ.วิชาญ กาญจนถวัลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญระดับ 9 ด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ยากลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นยาที่ช่วยบรรเทาความเสื่อมของข้อที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุขัย ส่วนประสิทธิภาพจะดีจริงหรือไม่นั้น ยังมีข้อถกเถียงกัน แต่ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดว่าเป็นยา ขณะที่ในประเทศแถบยุโรปกำหนดว่าเป็นยาที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้ จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยเห็นว่ายายังให้ผลดีอยู่บ้างพอสมควรและภาวะแทรกซ้อนจากยาค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม หากกรมบัญชีกลางมีความจำเป็นลดค่าใช้จ่าย อาจปรับเกณฑ์การใช้ยามากกว่าที่จะตัดออกจากระบบ เพราะข้าราชการที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่มีรายได้ต่ำยังมีอยู่มาก และควรให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาตัวนี้ใช้ทดแทนการนำเข้า
ติดตามต่อไปว่า เสียงสะท้อนจากตัวแทนข้าราชการจะได้ผลหรือไม่ หรืองานนี้...อาจไม่หยุดแค่ยาข้อเสื่อม แต่อาจหมายรวมถึงยาอีก 8 กลุ่มก็เป็นได้ !
--มติชน ฉบับวันที่ 18 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 2 views