เมื่อวันที่ 11 ต.ค.นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวเปิดประชุมและให้นโยบายดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า จากผลโพลพบว่าประชาชนให้ความชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากกว่า 80% ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และบริหารกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันทั้ง 2 ส่วนยังเดินไม่พร้อมกัน ดังนั้นต้องทำให้เกิดความสมดุลมากที่สุดและเดินไปพร้อมกัน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลเตรียมจัดทำงบประมาณเร็วขึ้น 2 เดือนดังนั้นการบริหารจัดการต้องเร็วด้วย
เมื่อถามว่าคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลระบุว่าการคงที่งบเหมาจ่ายรายหัว 3 ปีอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการ นายวิทยา กล่าวว่า ก็เข้าใจ แต่โดยตรรกะคนไม่ได้ป่วยทุกคน รัฐบาลก็รณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ และคาดหวังว่าระยะยาวคนจะเจ็บป่วยน้อยลง ถามว่างบเหมาจ่ายรายหัว 2,755.60 บาทพอไหม ถ้าไม่มีคนเจ็บป่วยเลยก็พอ แต่ถ้ามีคนเจ็บป่วยมากขึ้นก็ไม่พอ
"เราก็เตือนตัวเอง อย่างมีผู้สูงอายุมากขึ้นเราก็ดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ 60 ปีอาจไม่เจ็บป่วยเลย และดูแลกลุ่มอื่น ๆ ด้วย" นายวิทยา กล่าว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้หารือถึงการทำงานร่วมกันในการบริหารจัดการเงิน สุดท้ายเงินต้องโอนไปที่หน่วยบริการอยู่แล้ว แต่เงินและคนต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นช่วงระยะเวลาเพื่อจัดวางระบบที่ดี ต่อจากนี้ไปจะถือเป็นช่วงเวลาการสร้างอนาคต เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินไปข้างหน้า ทั้งเมื่อดูอัตราสัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 6% ของจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 2-3% ของจีดีพี หากคงอัตราสัดส่วนไม่ให้เกินจากนี้คงไม่เป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร เช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา การต่อรองราคายา
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 12 ตุลาคม 2555
- 1 view