คกก.พัฒนาระบบยาฯ ท้วง ก.คลัง ทบทวนมติ 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง เกรงกระทบระบบบริการ สธ.เชื่อทันก่อนมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมขอสถานพยาบาลสังกัด สธ.ทุกแห่ง เพิ่มอัตราการใช้ยาในบัญชียาหลักฯ 10%
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ว่า ที่ประชุมมีมติแจ้งกระทรวงการคลังให้ทบทวนกรณีการเลือกสถานพยาบาลประจำตัว ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสิทธิระบบสวัสดิการข้าราชการเพียง 1 แห่ง ต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือ 1 แห่งต่อทุกโรคเรื้อรัง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข เพราะที่ผ่านมา สธ.ได้ให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถรับยาโรคเรื้อรังได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ซึ่งอาจไม่ใช่โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยลงทะเบียนไว้ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นต้น เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่
นายวิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่าโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เพิ่มอัตราการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 10% เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยา ทั้งนี้ หากทุกคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบยาสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ลงได้ประมาณ 5 พันล้านบาท
สำหรับอัตราการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของโรงพยาบาลสังกัด สธ.สามารถแบ่งได้ดังนี้ รพช.80 ต่อ 20, โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 70 ต่อ 30 โรงพยาบาลศูนย์ 60 ต่อ 40 และโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ 50 ต่อ 50 ซึ่งกรณีของโรงเรียนแพทย์นั้นสามารถรับได้ หากมีการเพิ่มการใช้ยาในบัญชียาหลักเพิ่มขึ้น
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ได้ทักท้วงมติของกระทรวงการคลังที่ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระบบสวัสดิการข้า ราชการเลือกสถานพยาบาลประจำตัวได้เพียง 1 แห่งต่อ 1 โรค หรือ 1 แห่งต่อทุกโรคแล้ว คาดว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณามติใหม่และทันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อระบบบริการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยบางรายอาจลงทะเบียนที่โรงพยาบาลใหญ่แต่สามารถรับยา ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง เพื่อลดความแออัดของสถานพยาบาล
“จากยอดการใช้เงินในระบบสวัสดิการข้าราชการทั้งหมดราว 6 หมื่นล้านบาท สธ.ได้รับเงินส่วนนี้เพียง 1 ใน 3 หรือราว 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องเชิญสถานพยาบาลในสังกัดมารับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบังคับต่างๆของผู้ซื้อบริการ เช่น กระทรวงการคลังด้วย” นพ.ณรงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการประชุมครั้งนี้มีการแจ้งให้ทราบด้วยว่าจะมีการเพิ่มยาในบัญชียาหลัก แห่งชาตีอีกประมาณ 50 รายการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามประกาศ
ที่มา : www.manager.co.th
- 1 view