นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เข้าประชุมการตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการท้องถิ่น ที่ห้องประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.เป็นประธานการประชุมมีตัวแทนข้าราชการท้องถิ่น ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำเข้าร่วมประชุม โดยเร็วๆ นี้จะมีการทำบันทึกลงนามข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ส่วนบรรยากาศที่ประชุม แม้มีความเห็นแย้งเรื่องวิธีการในรายละเอียด แต่ในหลักการเบื้องต้นทุกคนเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งเงินก้อนแรกมาจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจหรือเงินอุดหนุนทั่วไป ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ กำหนด ซึ่ง สปสช.ขอตั้งค่าเฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนให้เหลือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
"จากข้อมูลกรมบัญชีกลาง ปี 2554 ข้าราชการพลเรือนมีค่าใช้จ่ายต่อหัว 12,680 บาท รัฐบาลใช้เงินประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ครอบคลุมครอบครัวข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน ส่วนข้าราชการท้องถิ่นมีประมาณ 170,000 คน ลูกจ้างประจำ 20,000 คน อาจใช้งบ ก้อนแรก 8,000 ล้านบาท โดย สปสช.คิดค่าบริหารจัดการ 1.5% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากมีเงินเหลือแต่ละปีจะเก็บไว้และนำลดอัตราส่วนการคิดวงเงินที่ตัดจากสำนักงานการกระจายอำนาจฯ แต่หากไม่พอจะหารือกันอีกครั้ง สำหรับข้าราชการท้องถิ่นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล ปี 2541 คือมีสิทธิการรักษาไม่ต่างจากข้าราชการ ก.พ.ทั้งการเข้าถึงบริการ มาตรฐานการรักษาพยาบาล สามารถใช้บริการที่ใดก็ได้ไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนคณะกรรมการบริหารกองทุน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เลขาธิการ สปสช.เป็นเลขานุการกองทุน ส่วนตัวแทนของ อปท.มีฝ่ายบริหาร ข้าราชการประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดย สปสช.จะรายงานค่ารักษาพยาบาลจริงส่งให้ต้นสังกัดทราบทุกเดือน หากรัฐบาลจริงใจอยากแก้ปัญหาให้พนักงานท้องถิ่นจริงๆ น่าจะนำเงินทุนสักก้อนหนึ่งสมทบการตั้งกองทุนเบื้องต้น ไม่อยากให้ราชการส่วนกลางมาแย่งทำงานหรือขัดขากันเอง รวมทั้งอดีตลูกจ้างประจำ รองนายก ประธานสภา รองประธานสภา สมาชิกสภา อปท.ควรได้สิทธิเฉพาะตัว แต่ต้องแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาล ปี 2541 ก่อน"
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 10 ตุลาคม 2555
- 2 views