ประธานบอร์ด สปส.เต้น 'นักวิชาการทีดีอาร์ไอ' ไขก๊อก เตรียมเรียกประชุมกรรมการติดตามผลศึกษาทางออกกรณีเงินชราภาพ แจงเหตุช้าเห็นว่ายังมีเวลา
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงกรณี น.ส. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ลาออกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของ สปส. เนื่องจากเห็นว่าผู้บริหาร สปส.ไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ซึ่งคาดว่าจะติดลบในอีก 30 ปีข้างหน้าว่า เรื่องนี้มีการศึกษาไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปส. เพราะเห็นว่ายังมีเวลาอีกนาน แต่จะเร่งติดตามเรื่องนี้เพื่อให้เข้าสู่บอร์ด สปส.โดยเร็วที่สุด
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ น.ส.วรวรรณไม่เห็นด้วยกับการนำเงินชราภาพไปสร้างบ้านพักคนชรานั้น เรื่องนี้เป็นนโยบายของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้ สปส.นำเงินกองทุนประกันสังคมมาทำประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนและสังคม และยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ล่าสุด บอร์ด สปส.ได้หารือเรื่องดังกล่าวและมีความเห็นว่าการสร้างบ้านพักคนชราขัดกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่สามารถนำเงินประกันสังคมไปสร้างบ้านพักคนชราได้ หากจะดำเนินการก็ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปต่อไป
"ส่วนกรณี น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ไม่เห็นด้วยกับการให้ สปส.จัดโครงการจัดหาที่พักอาศัยราคาถูกให้แก่แรงงานไทยในมาเก๊า เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สถานะของกองทุนประกันสังคมไม่มั่นคงในอนาคตนั้น หากมีการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วพบว่าไม่ก่อให้เกิดผลกำไร ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะไม่เข้าไปลงทุนแน่นอน แต่จะหาวิธีการอื่นทดแทน" นพ.สมเกียรติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 กองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมทั้งสิ้น 920,809 ล้านบาท แต่ในอีก 32 ปีข้างหน้า หรือปี 2587 กองทุนประกันสังคมจะตกอยู่ในภาวะติดลบ เนื่องจากต้องจ่ายเงินกรณีชราภาพจำนวนมาก ทั้งนี้ เริ่มจากปี 2555 มีผู้ประกันตนรับบำเหน็จ 94,110 คน จ่าย 5,680 ล้านบาท ปี 2557 ผู้รับบำเหน็จ 122,860 คน ผู้รับบำนาญ 3,250 คน จ่ายรวม 8,260 ล้านบาท ปี 2567 ผู้รับบำเหน็จ 12,860 คน ผู้รับบำนาญ 817,680 คน จ่ายรวม 53,020 ล้านบาท ปี 2577 เงินกองทุนมียอดสะสมสูงสุด 4.59 ล้านล้านบาท จ่ายทั้งบำเหน็จและบำนาญรวม 444,610 ล้านบาท ปี 2578 กองทุนมีรายรับเท่ากับรายจ่าย และปี 2587 กองทุนติดลบ มีผู้รับบำเหน็จและบำนาญรวม 6.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สปส.ได้ศึกษามาตรการสร้างเสถียรภาพให้แก่กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพไว้ 6 ทางเลือก อาทิ 1.เพิ่มอัตราเงินสมทบจาก 6% โดยเก็บจากนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3% เป็น 21% ทยอยปรับเพิ่มทุก 3 ปี ยืดอายุกองทุน 17 ปี กองทุนเงินหมดปี 2604 หรือ 2.ขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนจาก 55 ปี เพิ่มครั้งละ 2 ปี ทุก 4 ปี จนถึง 62 ปี ยืดอายุกองทุน 8 ปี กองทุนเงินหมดปี 2595 หรือ 3.ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบจาก 15 ปี เป็น 20 ปี ยืดอายุกองทุน 4 ปี กองทุนเงินหมดปี 2591 เป็นต้น
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 5 ตุลาคม 2555
- 2 views